เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่โรงแรมศรีลำดวน จังหวัดศรีสะเกษ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานการประชุมการขับเคลื่อนการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นภาคสุดท้ายในการระดมความคิดเห็นการบูรณาการแผนการศึกษาภาค ว่า โครงการขับเคลื่อนการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค ที่ศธ.กำลังดำเนินการขณะนี้ เป็นการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางและการพัฒนาประเทศในบริบทและมิติต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี(2561-2580)ให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ประเทศไทยในศตวรรษที่21 คือ ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยบูรณาการการศึกษาระดับภาค ทั้ง 6 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน ที่ส่งผลต่อเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า หลังจากระดมความคิดเห็นการขับเคลื่อนแผนบูรณาการการศึกษาภาค ทั้ง6 ภาคแล้ว หลังจากนี้ ในวันที่ 30 พ.ย.จะเรียกตัวแทนทั้ง6ภาค เข้ามาประชุมที่กรุงเทพฯ เพื่อมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอีกครั้ง และให้แต่ละภาคนำกลับไปปรับแผนของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะจัดทำแผนภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการเสนอสำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ภายในวันที่ 17 ธันวาคมนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแบ่งกลุ่มย่อย 3 กลุ่ม เพื่อระดมความคิดเห็น สร้างการรับรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนฯของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สรุปภาพรวมของแต่ละกลุ่ม ดังนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแบ่งกลุ่มย่อย 3 กลุ่ม เพื่อระดมความคิดเห็น สร้างการรับรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนฯของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สรุปภาพรวมของแต่ละกลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 เป็นการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานขับเคลื่อนการบูรณาการการศึกษาระดับภาค (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ได้เสนอแนวคิดโครงการ (Project Idea) ในประเด็นความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ เป้าหมาย และแนวทางการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ยึดจุดเน้นสำคัญคือ การผลิตกำลังคนรองรับด้านการเกษตร ด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม และด้านการท่องเที่ยว โดยได้เสนอแนะในประเด็น ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การจัดทำฐานข้อมูลด้านการศึกษา (Big Data) ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การแก้ไขปัญหาสุขภาวะที่ส่งผลกระทบทำให้เด็กมีไอคิว (IQ) ต่ำ และปัญหาพยาธิใบไม้ในตับ พร้อมทั้งได้มีมติ เห็นชอบแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2562 – 2564 และเห็นชอบให้เสนอโครงการพัฒนานักวางแผน ที่ร่วมจัดทำแผนบูรณาการฯจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนในปี 2562 ทั้งนี้แผนบูรณาการดังกล่าว ประกอบด้วยแผนงานโครงการที่สอดคล้อง ครอบคลุมตามกรอบทิศทางการพัฒนาภาค และสามารถนำไปจัดทำสาระสำคัญของโครงการ (Project Brief) เพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค รวมทั้งแผนงานบูรณาการระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ตลอดจนแผนงานยุทธศาสตร์และแผนงานบูรณาการ ช่องทางอื่น ๆ
กลุ่มที่ 2 เป็นการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้แทนจากสำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สถานศึกษาระดับต่าง ๆ ในพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อร่วมกันถอดบทเรียนจากการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งในระบบและนอกระบบกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา และพิจารณาต่อยอดให้มีความเหมาะสมกับทิศทางพัฒนาภาคและบริบทพื้นที่ เช่น หลักสูตรนวัตกรรมระบบราง หลักสูตรแมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ หลักสูตร internet of thing ควบคุมระบบเครื่องใช้ไฟฟ้า ในบ้านและชุมชน หลักสูตรปัญญาประดิษฐ์ (หรือ AI) หลักสูตรประมง และหลักสูตรทวิศึกษา โดยที่ประชุมฯ พบว่า มีความ จำเป็นต้องมีการสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย สถาบันอาชีวศึกษา และโรงเรียนในพื้นที่ก่อน จากนั้นจึงจะมาร่วมวิเคราะห์ออกแบบหลักสูตรเชื่อมโยงฯ รวมทั้งการพัฒนาระบบเทียบโอนชั่วโมงเรียนให้เป็นหน่วยกิตอย่างเป็นรูปธรรม ลักษณะ credit bank ด้วย
และกลุ่มที่ 3 เป็นการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อต่อยอดขยายผลการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ โดยในห้วงที่ผ่านมาได้มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งในหลายประการ ได้แก่ 1) การสร้างภาคีเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็ง ภายใต้ชื่อ “Srisaket Learning Partnership” หรือ SLP 2) การกำหนดภาพอนาคตใน 10 ปีข้างหน้า ให้คนศรีสะเกษรุ่นใหม่ เป็นคนรู้คิด จิตใจดี มีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ 3) การวิเคราะห์ฐานต้นทุนของโรงเรียนแกนนำในส่วนที่เป็นจุดแข็งและส่วนที่เป็นจุดที่ต้องพัฒนา นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังมีความเห็นตรงกันว่าการขับเคลื่อนการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดศรีสะเกษ จะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงขึ้นพร้อมกันใน 6 ด้านคือ หลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนรู้และการประเมินผลการเรียนรู้ บุคลากร สื่อการเรียนการสอน การลดการประเมินโรงเรียน และการเงิน โดยควรเน้นสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างแรงจูงใจ ในการสนับสนุนการศึกษาจากชุมชน