วันนี้ (5 พ.ย.) ที่โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวระหว่างเป็นประธานประชุมแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาอาชีวศึกษาแห่งชาติสู่สากล ว่า การประชุมนี้ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่มีทุกภาคส่วนทั้งสภาอุตสาหกรรม หอการค้าแห่งประเทศไทย คณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) มีข้อตกลงร่วมกันที่จะช่วยนำพาอาชีวศึกษาไปสู่สากล โดยขณะนี้มีหลักสูตรนานาชาติ ได้แก่ หลักสูตร Business and Technology Education Council-BTEC ของ Pearson สหราชอาณาจักร ที่ผ่านการรับรองนำมาใช้จัดการศึกษาในสถาบันการศึกษาของประเทศไทย อนาคตก็มีหลักสูตรของประเทศอื่นๆได้เสนอมาด้วย ตรงนี้จะเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะต้องปรับตัวตั้งแต่หลักสูตร วิธีการเรียนการสอน การออกใบรับรองควรจะเน้นตามสมรรถนะมากกว่าตามเกรดเฉลี่ย ดังนั้น ตนได้มอบนโยบายกับดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ไปว่าตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไปทิศทางในประเทศจะตามแนวทางนี้ โดยอาจจะเริ่มต้นที่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)โดยให้เริ่มทำจากจุดเล็กๆก่อน เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้เรียนเดิม ส่วนจะเป็นสาขาใดทาง สอศ.ต้องไปดูรายละเอียด

“ตั้งแต่ผมเข้ามาดำรงตำแหน่งรมว.ศึกษาธิการ แรก ๆ  ได้พูดคุยกับเลขาธิการ กพฐ.และภาคเอกชนทำให้ทราบว่าปัญหาสำคัญของอาชีวศึกษาคือขาดแคลนอาจารย์มากกว่า 18,000 คน ซึ่งกว่าจะผลิตได้ก็ต้องใช้เวลานานหลายปี จึงมอบนโยบายให้เปลี่ยนโรงงานให้เป็นโรงเรียน มีหลักสูตรการเรียนที่ภาคเอกชนมาร่วมพัฒนาให้ตรงกับความต้องการ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดครูอาจารย์ของอาชีวะนั้น ได้ให้โจทย์กับคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ไปศึกษาแนวทางปลดล็อคใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู สำหรับผู้สอนอาชีวศึกษาซึ่งควรจะมีหลายรูปแบบ เนื่องจากขณะนี้มีทั้งครูที่สอนในสถานศึกษาที่ไม่ได้จบคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์โดยตรง ต้องไปเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต (ป.บัณฑิต)สาขาวิชาชีพ ใช้เวลาอีกเป็นปีๆ ยังมีผู้ดูแลที่อยู่ในสถานประกอบการที่ทำหน้าที่ครูพี่เลี้ยงในโครงการทวิภาคี เป็นต้น ตรงนี้ กมว.ต้องไปคิดและมาเสนอผม”รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมกันผลักดันการพัฒนาคน ยิ่งปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ภาคอุตสาหกรรมก็ต้องเปลี่ยนแปลงไม่สามารถนิ่งดูดายได้ ต้องปรับตัว ต้องเรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่อยู่เสมอ ขณะที่ หลักสูตรการศึกษาของไทยยังมีข้อจำกัดอยู่เยอะมากจะทำอย่างไรก็ไม่ทันกับเทคโนโลยี ซึ่งการที่ ศธ.มีการนำหลักสูตรนานาชาติเข้ามาใช้ เช่น หลักสูตร BTEC ที่จากการสอบถามก็พบว่ามีการปรับปรุงและพัฒนาอยู่ตลอด มีการพัฒนาเทรนเนอร์ที่จะช่วยให้คำแนะนำ เป็นหลักสูตรที่พร้อมจะสร้างคนเพื่อทำงานได้ทันที ก็ถือได้ว่าตรงกับความต้องการของภาคเอกชน ตรงความต้องการของประเทศ

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments