เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่งทูตสันถวไมตรีขององค์การยูเนสโกด้านการส่งเสริมศักยภาพของเด็กชนกลุ่มน้อย และการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม (UNESCO Goodwill Ambassador for the Empowerment of Minority Children and the Preservation of their Intangible Cultural Heritage) แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2548 ที่นายโคอิชิโร มัตสึอูระ (Mr. Koichiro Matsuura) ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกในขณะนั้นได้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเกียรติบัตร ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เนื่องจากยูเนสโกได้เล็งเห็นคุณูปการอย่างใหญ่หลวง ที่ได้ทรงงานเพื่อพัฒนาการศึกษาและพัฒนาศักยภาพเด็กด้อยโอกาสที่อยู่ห่างไกลทั้งด้านการศึกษาและการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่มากว่า 40 ปีก่อนที่องค์การยูเนสโกจะทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่งดังกล่าว และยังคงทรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยวาระการดำรงตำแหน่งทูตสันถวไมตรีองค์การยูเนสโกของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมัยปัจจุบันได้สิ้นสุดลงในวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 องค์การยูเนสโกจึงกราบบังคมทูลต่ออายุวาระในการดำรงตำแหน่งต่อไปอีก 2 ปี สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาฯ สหประชาชาติ จึงเห็นควรมีหนังสือถึงราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระราชวินิจฉัยในการดำรงตำแหน่งทูตสันถวไมตรีต่ออีก 2 ปี
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อองค์การยูเนสโกมากว่าหลายสิบปี โดยทรงเป็นประธานเปิดการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน (World Conference on Education for All) ณ จอมเทียน-พัทยา จังหวัดชลบุรี เมื่อปี 2533 ซึ่งเป็นจุดกำเนิดปฏิญญาสากลว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน (Jomtien Declaration “Education for All”) ทรงเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมระดับสูงว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน ครั้งที่ 10 (10th Meeting of the High Level Group on Education for All หรือ EFA) ซึ่งจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2554 ณ โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท จอมเทียน-พัทยา จังหวัดชลบุรี และในโอกาสครบรอบ 30 ปีแห่งความสำเร็จของการจัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม และทรงกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สี่ทศวรรษ การทรงงานด้านการศึกษา และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก และเยาวชนด้อยโอกาส” ในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา (The International Conference on Equitable Education: All for Education) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 ณ โรงแรม สยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมและทรงกล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมของยูเนสโกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ อาทิ การประชุมคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยชีวจริยธรรม ครั้งที่ 26 (The 26th Session of the International Bioethics Committee of UNESCO – IBC) การประชุมคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 11 (The 11th Session of the World Commission on the Ethics of Scientific Knowledge and Technology – COMEST) และการประชุมทางวิชาการว่าด้วยจริยธรรมของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการพัฒนาที่ยั่งยืน (Conference on the Ethics of Science & Technology and Sustainable Development) ในเดือนกรกฎาคม 2562 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ลาดพร้าว กรุงเทพฯ การประชุมกาแล็กซี ฟอรัม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2020 ประเทศไทย (Galaxy Forum Southeast Asia 2020 Thailand) ซึ่งจัดโดยศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติภายใต้ยูเนสโก (International Training Centre in Astronomy under the Auspices of UNESCO: ITCA) ร่วมกับสมาคมหอสังเกตการณ์ดวงจันทร์นานาชาติ สหรัฐอเมริกา (International Lunar Observatory Association: ILOA) ณ จังหวัดเชียงใหม่ และล่าสุดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ (Second Asia-Pacific Regional Education Minister’s Conference on SDG4-Education 2030 : APREMC-II) เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ
UNESCO goodwill ambassador programme เป็นการดำเนินงานของยูเนสโกภายใต้กรอบสหประชาชาติ เป็นตำแหน่งอันทรงเกียรติที่มอบให้กับบุคคลที่มีชื่อเสียงและทำคุณประโยชน์เพื่อส่งเสริม เผยแพร่งาน และภาพลักษณ์ของยูเนสโกในสาขาต่างๆ ให้เป็นที่รู้จักแก่สาธารณชน โดยจะมีการพิจารณาจากการปฏิบัติหน้าที่ในทุกๆสองปี ทั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นคนไทยเพียงพระองค์เดียวที่ได้รับทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่งดังกล่าว