เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงบทบาทของศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.)และศึกษาธิการภาค(ศธภ.)ว่า เร็ว ๆ นี้ตนจะเชิญ ศธจ.ศธภ.และผู้ตรวจราชการ ศธ.มาทำความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่หลังจาก พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2560 พ.ศ.2565 มีผลใช้บังคับ ซึ่งจากเดิม ศธจ.และศธภ. มีบทบาทในการขับเคลื่อนงานนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่ นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ แต่ต่อไปนี้จะต้องเพิ่มบทบาทการเป็นตัวแทนของปลัดกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่ ที่จะประสานงานบูรณาการความร่วมมือระดับจังหวัด แสวงหาหุ้นส่วนความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนมาช่วยส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษา ฝึกฝนนักเรียน นักศึกษาให้เป็นคนที่มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การจัดการศึกษาของไทยเกิดความยั่งยืนมากขึ้น
“ที่ผ่านมามีงานวิจัยด้านการศึกษาอยู่มากมายแต่ยังไม่สามารถส่งผลไปถึงสถานศึกษาได้ ดังนั้นจากนี้ศธภ.และศธจ.จะต้องนำรายงานเหล่านี้ลงสู่การปฏิบัติ และที่สำคัญงบประมาณบางส่วนจากส่วนกลางก็จะส่งต่อลงไปในภูมิภาค โดยเฉพาะ เพื่อให้ขับเคลื่อนไปให้ถึงศึกษานิเทศก์ซึ่งจะเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยพลิกโฉมการศึกษาของไทยได้อย่างแท้จริง โดยจะเป็นผู้ขับเคลื่อนการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้แก่ผู้เรียนได้”ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวและว่า ศธภ.และ ศธจ.ต้องมีความทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ สามารถทำงานเชื่อมโยงได้ ซึ่งจะทำให้การศึกษาเกิดคุณภาพเป็นการพลิกโฉมการศึกษาของประเทศได้อย่างสมบูรณ์
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามปัญหาการศึกษาของประเทศไทยมีหลายส่วน ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงศึกษาธิการก็พยายามขับเคลื่อนแก้ไขอยู่แล้ว ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและได้ร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่โดยเฉพาะศึกษาธิการจังหวัดและศึกษาธิการภาคในการเปิดรับสมัครครูที่เกษียณอายุราชการแล้วมาเป็นจิตอาสา เพื่อลงไปให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ด้อยโอกาสและผู้ขาดโอกาสทางการศึกษาที่มีอยู่เกือบ 3 ล้านคน เพื่อนำกลับเข้าสู่การศึกษาทั้งที่เป็นการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ สายสามัญและสายอาชีพต่อไป นอกจากนี้ในส่วนของผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการก็ถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญไม่น้อยไปกว่า ศธจ.และ ศธภ. เพราะศธจ.และศธภ.เป็นผู้ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย แสวงหาความร่วมมือ เพื่อส่งไม้ต่อในพื้นที่ให้เกิดการขับเคลื่อนงานตามนโยบาย ขณะที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯก็จะลงไปติดตามว่าสิ่งที่ ศธจ.และ ศธภ.ดำเนินการไปแล้วเป็นอย่างไรควรดำเนินการต่อ หรือแก้ไขจุดไหน เพื่อรายงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต่อไป ดังนั้นผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการแนวใหม่จะต้องเป็นผู้ที่สามารถนำข้อมูลมาให้เกิดการพลิกโฉมการศึกษาให้เกิดการศึกษาเชิงรุกได้ ซึ่งจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมการศึกษาแนวใหม่