เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ที่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กรุงเทพมหานคร  นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง การสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยสำหรับการศึกษาในศตวรรษที่ 21 โดย น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ทำอย่างไรให้การจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์แล้วเด็กได้ซึมซับจริง ๆ โดยไม่ต้องท่องจำว่า แต่ละยุคเกิดอะไรขึ้น เข้าใจความเป็นชาติและที่มาของประวัติศาสตร์ได้ เพราะประวัติศาสตร์ไม่พูดถึงเฉพาะประวัติศาสตร์ไทยเท่านั้น แต่ยังมีประวัติศาสตร์ทั่วโลก กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ฟันฝ่าอะไรมาบ้าง และประวัติศาสตร์ยังได้เชื่อมโยงไปถึงเรื่องของศิลปวัฒนธรรม  ศาสนา วิถีชีวิต เพราะฉะนั้นการเรียนประวัติศาสตร์จึงเป็นการเรียนรู้เรื่องของตัวเองอย่างรอบตัว 360 องศา สำหรับประเทศไทยคิดว่าเรามีของดีอยู่แล้วในความเป็นชาติของเรา มีความเป็นมาที่ยาวนาน ซึ่งต่างชาติเค้ายังมีความสนใจในประวัติศาสตร์ของไทย มีนักประวัติศาสตร์หลายท่านที่เข้ามาในประเทศไทยและศึกษาถึงเรื่องชาติพันธุ์ ทำหลักสูตรภาษาไทยในต่างประเทศ ซึ่งด้วยความเป็นคนไทยเราอาจจะคุ้นชินกับสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่เกิด แต่อาจะยังไม่ซึมซับหรือเข้าไปในจิตวิญญาณ เพราะฉะนั้นคิดว่ากระบวนการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญ เนื้อหาเรามีอยู่และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น มีสื่อออนไลน์ ในยูทูป เว็บไซต์มากมาย  และปัจจุบันเราก็มีศูนย์หรือแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ มากมายในพื้นที่ต่าง ๆ จึงอยากจะให้ช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรโรงเรียนทุกสังกัดและศูนย์การเรียนรู้จะสามารถเชื่อมโยงกันให้มาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ที่เด็กจะสามารถเข้าถึงได้

“โดยส่วนตัวตอนเด็ก ๆอาจจะไม่รู้สึกอะไรแต่พอโตขึ้นได้ไปเรียนต่างประเทศ แล้วมองกลับเข้ามาโดยได้ไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่ได้เห็นในต่างประเทศ จะเห็นถึงความงดงาม คุณค่า วิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมความเป็นไทย และตอนนี้สตรีทฟู๊ดของเราก็ดังไประดับโลกแล้ว แต่ด้วยความเป็นคนไทยเราก็อาจจะรู้สึกเฉย ๆ เพราะเราชิน แต่คนต่างชาติเขาไม่มีแบบนี้ เขาเห็นเป็นความน่ารัก และยังสร้างเรื่องของเศรษฐกิจ ซอฟต์พาวเวอร์  เรื่องของงานศิลปวัฒนธรรมที่ประเทศไทยเรามีอย่างหลากหลาย ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีไม่เหมือนกันซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ก็อยากให้คิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กเห็นสิ่งใกล้ตัวไม่ใช่ความเคยชิน แต่เป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีที่มาอย่างไร และสามารถนำไปสู่ซอฟต์พาวเวอร์ของคนไทยอย่างยาวนาน โดยยึดโยงกับประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งคิดว่าโรงเรียน ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์และครูจะต้องช่วยกันคิดใช้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวมาจัดกระบวนการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กได้ซึมซับเรื่องเหล่านี้โดยไม่ต้องท่องจำ แต่คิดวิเคราะห์เป็น ต่อยอดเป็น  โดยยึดเรื่องของประวัติศาสตร์แล้วบูรณาการเชื่อมโยงกับวิชาต่าง ๆ ทุกมิติ”รมว.ศึกษาธิการกล่าว

น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อไปว่า วันนี้กระทรวงศึกษาธิการมีการนำร่องผลิตสื่อเพื่อการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไว้มากมาย  มีบอร์ดเกม มีพื้นที่ประวัติศาสตร์ เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์มีความน่าสนใจ และเด็ก ๆ ได้สนุกกับการเรียนรู้ แต่ก็ขอฝากเรื่องการประเมินซึ่งมีส่วนสำคัญด้วยว่า มีเป้าหมายว่าประเมินเพื่อให้สอบผ่านหรือเพื่อให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น แล้วต้องการให้เด็กออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นหัวใจทุกฝ่ายต้องมาทบทวนและช่วยกัน โดยเฉพาะครูก็ถือเป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งเชื่อว่าครูหลายคนก็มีแนวคิดมีแรงบันดาลใจและมีกระบวนการเรียนการสอนที่จะทำให้เด็กคิดวิเคราะห์ในทางประวัติศาสตร์ มีความเข้าใจในอดีต สามารถต่อยอดความสำเร็จและลดข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments