เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 กระทรวงศึกษาธิการ โดยคุรุสภา จัดงานวันครู ครั้งที่ 67 ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “พลังครู คือ หัวใจของการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษา” Teacher’s Power is the Heart of Transforming the Educational Quality ในรูปแบบผสมผสาน ทั้ง Onsite และ Online  โดย พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานงานวันครู ที่หอประชุมคุรุสภา สำหรับงานปีนี้มีพิธีคารวะครูอาวุโสของนายกรัฐมนตรี ได้แก่ พล.อ.เกษม  นภาสวัสดิ์  ครูที่เคยสอนวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และในงานยังมีการมอบรางวัล จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ ประจำปี 2566 และรางวัลคุรุสภา ประจำปี 2565 “ระดับดีเด่น” รวมจำนวน 17 ราย

โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในการเปิดงานวันครูว่า การจัดงานวันครูเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อครูผู้มีพระคุณ ที่คอยส่งเสริม สร้างปัญญาให้แก่ศิษย์ด้วยความอุตสาหะ อดทนและเสียสละ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าของลูกศิษย์ในด้านสติปัญญาละจิตใจ ให้เป็นคนดีมีคุณธรรม จริยธรรม ในการเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ นับว่าเป็นหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของครูทุกคนในการสร้างสรรค์ปั้นแต่งให้ศิษย์มีคุณลักษณะที่ดี เป็นพบเมืองดี เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพของสังคม  ปีนี้ได้ให้คำขวัญวันครูให้สัมพันธ์กับวันเด็กเพื่อให้ครูและเด็กมีความผูกพันกัน โดยได้ให้คำขวัญวันครูว่า “ครูดี  ศิษย์ดี  มีอนาคต” ซึ่งเป็นคำที่ตนต้องการให้ทุกคนเข้าใจว่า  นั่นคือสิ่งสำคัญที่สุดในเรื่องการศึกษา  คือทำให้ทุกคนมีอนาคต ไม่ใช่อนาคตของคนอย่างเดียวแต่เป็นอนาคตของประเทศชาติด้วย ซึ่งเรามีหัวข้อยุทธศาสตร์เรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ถ้าไปทบทวนดูก็จะเข้าใจว่าทำไมถึงมียุทธศาสตร์นี้  เพราะฉะนั้นตนจึงเชื่อมั่นพลังของครูว่าเป็นหัวใจของการนำการเปลี่ยนแปลงไปสู่คุณภาพการศึกษา ในการสร้างและพัฒนาคนเพื่ออนาคตของประเทศ ครูต้องเป็นผู้นำของการกระตุ้นการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ สร้างทัศนคติที่ดีให้เด็กนักเรียน

นายกฯ กล่าวต่อไปว่า ตนเคยกล่าวไปหลายครั้งแล้วว่า เด็กเปรียบเสมือนผ้าสีขาว หรือด้ายหรือไหมสีขาวที่พร้อมจะถักทอแล้วใส่ลวดลาย ใส่สีให้สวยงาม เพราะฉะนั้นจะต้องเริ่มจากสีที่บริสุทธิ์ก่อน ก็อยากให้ทุกคนมองย้อนไปว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้เด็กสนใจเรื่องการศึกษา และสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ ที่ไม่ใช่โลกใบเดิม ถึงแม้หลายอย่างจะเป็นเหมือนเดิม แต่โลกวันนี้ไม่เหมือนเดิม เพราะได้เพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีและการเจริญเติบโตด้านดิจิทัลมากมาย วันนี้หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงไม่เตรียมตัวเพื่อรับมือกับสิ่งเหล่านี้ มันจะเกิดดิสทรัปชั่นมากมาย มีผลกระทบกับเรา กับครอบครัว กับประเทศชาติ เพราะฉะนั้นครูจะต้องเป็นผู้นำการเรียนรู้ กระตุ้นการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างทัศนคติที่ดีให้ผู้เรียน เติมเต็มความรู้ให้ผู้เรียนมีปัญญาที่งอกงามในทางที่ดี ที่ถูกต้อง ไม่ทำให้เกิดปัญหาเกิดความวุ่นวายในสังคม ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องจุดประกายให้ผู้เรียนรู้จักคิดเป็น และแก้ไขปัญหาได้  นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด ตนถึงบอกว่า ถ้าครูดีศิษย์ดีก็มีอนาคต คำว่าอนาคตไม่ใช่เฉพาะตัวเขา ครอบครัวเขา แต่ประเทศชาติก็จะมีอนาคตไปด้วย เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องขับเคลื่อนสิ่งนี้ไปให้ได้เพราะเป็นพื้นฐานของสังคม ซึ่งเราทุกคนก็เรียนหนังสือมีครูกันทุกคนดังนั้นครูจึงเป็นจุดเริ่มต้น จุดประกายของเด็กทุกคนให้เจริญเติบโตในสิ่งที่ถูกต้องตามทำนองครองธรรม

“ขอฝากไว้ด้วยว่าจะต้องมีหลักคิดที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีจิตสาธารณะ เผื่อแผ่ แบ่งปัน พัฒนาตนเองอยู่เสมอ และเพื่อคนอื่นด้วย เพราะให้สังคมมีความปลอดภัยในวันข้างหน้า มีความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อประเทศชาติ เราจะทำให้ผู้เรียนเติบโตเป็นพลเมืองที่ดี เพราะพลเมืองที่ดีมันไม่อยาก ก็ให้ลองไปหามาว่าจะทำอย่างไรให้เป็นพลเมืองที่ดี ซึ่งที่ตนพูดมาก็เกือบครบแล้วว่าทุกอย่างอยู่ที่จิตใจ ร่างกาย ความประพฤติ ทุกอย่างประกอบกันหมด เพราะฉะนั้นการจะดีหรือไม่ดีตัวเราเองรู้ว่าเราทำดีหรือไม่ดี บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ใจ เพราะฉะนั้นเราอย่าทำอะไรที่ไม่ดีแล้วกัน ตนพยายามประคับประคองทุกอย่างให้เดินหน้าไปได้บนพื้นฐานของความไว้วางใจ ไว้เนื้อเชื่อใจและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ตนไม่อาจไปกล่าวได้ว่าใครทำดีหรือไม่ดี ตนมีหน้าที่ทำให้มันดีมากขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างคนของเราให้มีสมรรถนะในการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของงสังคมในอนาคต อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าคือความก้าวล้ำของเทคโนโลยี ผู้บริหาร การศึกษาจำเป็นต้องพัฒนาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ”นายกฯกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่รัฐบาลกำหนดไปแล้ว คือการจัดการศึกษาให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21  ดังนี้ 1. เน้นการพัฒนาครูและบุคลกรทางการศึกษา ให้มีสมรรถนะในการออกแบบการเรียนรู้ที่เป็นสัญญลักษณ์การเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์  มีทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างรู้เท่าทัน ทักษะการใช้ชีวิตในโลกอนาคต พร้อมต้องรับผิดชอบต่อสังคมและครอบครัว รู้จักรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  2.ส่งเสริมการเรียนรู้ และการสร้างสมรรถนะโดยใช้เครื่องมือเทคโนโลยี ดิจิทัล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศมากขึ้นในอนาคต โดยขณะนี้มีการพัฒนาอุสาหกรรมมากขึ้น จากเดิมที่มี 5 อุตสาหกรรมซึ่งสร้างรายได้ให้ประเทศมาอย่างยาวนาน ก็ต้องมีการพัฒนาให้ทันสมัยยิ่งขึ้นมีผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยและมีคุณภาพมากขึ้น เป็นความต้องการของตลาดมากขึ้น และได้มีการจัดตั้งอุตสาหกรรมใหม่อีก 7 อุตสาหกรรม  รวมทั้งหมด 12 อุตสาหกรรม โดยพัฒนาในพื้นที่ที่ต่าง ๆ มีการสร้างเครือข่ายพื้นฐานไว้ตามภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งมีกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ โดยมีการพัฒนาเชื่อมโยงกันภายในประเทศจากภาคตะวันตกไปตะวันออก เหนือ ใต้ เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ทุกภูมิภาคของประเทศทุกจังหวัด ทุกกลุ่มจังหวัด ซึ่งเป็นภาพใหญ่ที่รัฐบาลมองอยู่ ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงออกไปประเทศรอบบ้าน ไปถึงจีน ยุโรป เป็นต้น  ซึ่งเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องศึกษา เพราะบางอย่างไม่มีในตำรา และนำเข้าสู่วิชาการ

“ วันนี้การสอนการเรียน ทั้งหมดเป็นการเรียนที่เรียกว่า แอคทีฟเลิ่นนิ่ง ไม่ใช่สอนแต่ตำราอย่างเดียวแล้วก็ตอบข้อสอบไม่ได้ เพราะสอนแต่ถูกผิดอย่างเดียว ไม่ได้สร้างจิตวิญญาณในการคิด เข้าใจร่วมกันออกมา ผมเองก็ถูกสอนมาแบบเดิม แต่ก็ต้องมีการพัฒนาตัวเองเรียนรู้ อ่านหนังสือ รับฟังผู้รู้ และใช้วิจารณญาณในการใคร่ครวญว่า จะเดินหน้าประเทศอย่างไร ต้องมีการพัฒนาตัวเองตามลำดับ ก็ขอบคุณครูผู้อาวุโสทั้งหมด ที่ได้สอน กระทั่งผมได้มายืนอยู่ได้วันนี้ เพราะผมมีครูที่ดี และมีสังคมที่ดี ผมพยายามจะทำตัวให้อยู่ในกรอบ มีวินัย  และสิ่งสำคัญคือ สอนให้ผมเป็นคนดี สุจริต ผมยืนยันว่าทุกอย่างจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายทั้งสิ้น จะไม่มีละเว้นใครทั้งสิ้น ตราบใดที่มีคดีเกิดขึ้นมา ทุกเรื่องกำลังขับเคลื่อน เมื่อเกิดขึ้นก็สอบสวน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวและว่า  เรื่องที่ 3. การจัดสถานการณ์การเรียนรู้ให้นักเรียนได้รู้จักรากเหง้าของชาติ เอกลักษณ์ของชาติ เพื่อสะท้อนความเป็นตัวตนของไทยแม้จะให้ความสนใจในวัฒนธรรมต่างประเทศ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่วัฒนธรรมรากเหง้าของไทยยังมีอยู่ ดังนั้นอย่าลืม ถ้าเราไม่รู้ความเป็นมา ก็จะไม่รักประเทศ หลายคนลืมไปแล้วว่า เราคือคนไทย เกิดที่ไทย ประกอบอาชีพ กินนอนที่ไทย และอาจต้องตายที่ไทย เพราะคือแผ่นดินของเรา เป็นสิ่งที่ต้องถ่ายทอดให้ทุกคนสำนึก เราต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน เป็นคำที่กล่าวแล้วอาจจะเข้าใจยากจริงแล้วไม่ยากเลย  แต่แค่ทำความดี ไม่เอาเปรียบ ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ก็ทำให้ประเทศสงบสุขมากแล้ว

นายกฯ กล่าวอีกว่า เพราะฉะนั้นวันนี้เราต้องรู้จักความเป็นมาของชาติ เอกลักษณ์ของชาติ ซึ่งจะสะท้อนความเป็นตัวตนของคนไทย เพราะฉะนั้นครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องต้องออกแบบการเรียนรู้และกิจกรรมให้นักเรียนเข้าใจในส่วนนี้ รวมไปถึงสอนให้เด็กศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน เพื่อให้ทุกคนเรียนรู้แล้วกลับไปพัฒนาชุมชน ครอบครัวของขาให้ดีขึ้น มิฉะนั้นจะพัฒนาอย่างไรเมื่อคนดีคนเก่งออกไปหมด รัฐบาลก็ต้องไปสร้างโครงสร้างนั้น ซึ่งก็ต้องทยอยดำเนินการในเรื่องการลงทุนและต้องอาศัยหลายส่วน เราจำเป็นต้องพัฒนาทั้งเมือง  พัฒนาเมืองใหม่ มีเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะมีกิจกรรมที่ทันสมัยอีกเรากำลังก้าวไปสู่อนาคตที่ดี อาจจะคิดขัดแย้งกันบ้างแต่ก็ต้องหาข้อสรุปให้ได้ว่าจะทำอย่างไร เพราะถ้าไม่ทำอะไรเลยทุกอย่างก็เหมือนเดิม หรืออาจจะแย่ลงไปอีก เพราะฉะนั้นครูจะต้องออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้นักเรียน เกิดความรักความภูมิใจหวงแหนแผ่นดินเกิด เป็นพลเมืองที่ดีของชาติโดยต้องอยู่บนหลักการที่ว่านักเรียนสามารถสร้างการเรียนรู้เองได้ ด้วยเหตุและผล

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งทุกคนต้องเรียนรู้จะได้รู้ว่าเราเป็นใครมาจากไหน มีอะไรดีไม่ดีเกิดขึ้นในอดีตบ้างจะได้แก้ไข ประวัติศาสตร์ที่ดีจะได้รักษาไว้ หาเหตุผลให้ได้ว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ถ้าท่องอย่างเดียวก็ได้แค่ท่อง เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจให้ได้ว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วทำไมถึงเกิดขึ้น การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรียนรู้เพื่อขัดแย้งกับใคร ที่ผ่านมาอะไรไม่ดีก็อย่าทำ แล้วเดินหน้าสิ่งที่ดี วันนี้ก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ของวันหน้า  หลายอย่างที่สถาบันกษัตริย์ทำไว้ทำให้ประเทศไทยอยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ได้โดยที่เราไม่ตกเป็นอาณานิคมของใคร ไปศึกษาดูว่าด้วยเหตุผลอะไร ต้องไปหาเหตุผลว่าทำไมท่านทรงทำอย่างนั้น ประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นชุมชนเป็นอย่างไร สิ่งอย่ามีความเป็นมาทั้งนั้น  แล้วเราจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างไร นี่คือวิชาประวัติศาสตร์แนวใหม่ไม่ใช่สอนท่อง อีกอย่างที่เห็นในวันนี้ คือ การสอบ ที่ข้อสอบ เป็นแบบวงกลม เลือกคำตอบเกือบทั้งสิ้น ทำให้เด็กไม่ถนัดการเขียนข้อความ สังเกตได้จากการเขียนหนังสือที่สละสลวยค่อนข้างอ่อนลง ไม่เหมือนสมัยก่อนต้องเขียนคำตอบกันเป็นหน้า ๆ แต่วันนี้ก็เห็นใจ ข้อสอบเยอะ ตรวจยาก  แต่ก็อยากให้ออกข้อสอบที่ให้ความรู้ได้พัฒนาคนและเรียนรู้ด้วย อ่านแล้วเข้าใจ เกิดประโยชน์ ตัดสินใจได้ถูกต้อง ไม่ใช่ออกข้อสอบให้ยาก ซึ่งก็ต้องไปดูว่าจะปรับปรุงอย่างไร รวมถึงเรื่องของตำราเอกสารต่าง ๆ ด้วย  และการสอนก็ต้องทั้งในและนอกตำราที่มีหลักเกณฑ์ ที่ไม่ทำให้เกิดความสับสนด้วย เพราะวันนี้หลายอย่างก็เข้ามาในช่องทางของโซเชียล ออนไลน์ ต้องมีภูมิต้านทานในการอ่าน ในการเสพทุกอย่าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาของพวกเรา กระทรวงศึกษาธิการ ครู อาจารย์

นายกฯ กล่าวด้วยว่า วันนี้ตนให้ความสำคัญไปถึงการเรียน กศน.ที่เปิดโอกาสให้เด็กที่ขาดโอกาส ตนเป็นคนเริ่มนำ กศน. เข้าไปในค่ายทหาร เพื่อพัฒนาการศีกษาพลทหาร กลับไปให้ความรู้ในชุมชน ขอให้มีการขยาย เรียนรู้ทางออนไลน์ ให้ทุกคนได้ศึกษาเล่าเรียน วันนี้หลายคนต้องออกจากการศึกษา ดังนั้นต้องไปดูว่าจะทำอย่างไร ที่จะดึงกลับเข้ามา เช่น ให้ความรู้ผ่านออนไลน์ ซึ่งมีหลายหน่วยงานดำเนินการ หากสามารถดำเนินการได้จะประสบความสำเร็จ เรามีเป้าหมายร่วมกัน คือพัฒนาผู้เรียน ทุกคนต้องร่วมมือกัน ตนพนยามจะดูแลแก้ปัญหาครู โดยได้ให้แนวทางแก้ปัญหา ทุกอย่างค่อยๆ ดำเนินการพัฒนาและแก้ปัญหา ตนอาจจะพูดเยอะเพราะวันนี้สถานการณ์อาจจะมีปัญหา จะมีการเลือกตั้ง ดังนั้น ขอให้ทุกคนใคร่ครวญให้ดี ตนไม่บังอาจจะไปว่าใครดี หรือไม่ดี วิ่งสำคัญที่ดีที่สุดคือทำให้ประเทศชาติอยู่ได้ มีเสถียรภาพทางการเงิน การคลังที่เข้มแข็งเหมือนทุกวันนี้ เราผ่านสถานการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 มาได้แล้ว การท่องเที่ยว เศรษฐกิจดีขึ้น ฝ่าฟันมาด้วยหยาดเหงื่อ แรงกาย เพราะฉะนั้นวันข้างหน้าก็ต้องฝ่าฟัน จับมือเดินไปด้วยกัน การช่วยเหลือแบบให้เปล่ามากๆ เป็นไปไม่ได้ จำไว้ว่าเป็นไปไม่ได้ ทุกคนต้องเข้าใจระบบบริหารราชการแผ่นดิน ระบบการเงินการคลังของประเทศ

พล.อ.เกษม กล่าวว่า ตนสอนนายกฯ ในสมัยเป็นนักเรียน จปร. ปี 1 พ.ศ.2514 ที่เด่นมาก คือ ตัวนายกฯ ตัวค่อนข้างสูงใหญ่ เสียงดังฟังชัด ที่น่าสนใจเพราะนายกฯ เป็นรุ่นน้องโรงเรียนวัดนวลนรดิศ  ลักษณะที่ประทับใจ นายกฯ คนที่มีลักษณะเป็นทหารที่เข้มแข็ง ถ้าเป็นเรื่องของการฝึกโรงเรียนนายร้อย จปร. จะมีความเข้มแข็งมาก ฝึกให้นักเรียนมีความเป็นสุภาพบุรุษ เป็นผู้นำที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ซึ่งจะฝึกให้เข้าสายเลือด อย่างเช่น นายกฯ ได้รับหน้าที่ให้เป็นนายกฯ ก็จะต้องรับผิดชอบในหน้าที่ให้เต็มที่ ให้สำเร็จบรรลุเป้าหมาย โดยต้องไม่ทิ้งความสุจริต ความซื่อสัตย์ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ภูมิใจมากๆ  และเท่าที่ผมได้เป็นครูคนหนึ่งของนายกฯ ที่ได้หล่อหลอม นายกฯ ได้ปฏิบัติตนได้ตามปณิธานที่ตั้งไว้ ตรงนี้ภูมิใจมากที่นายกฯทำได้ แม้พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯแต่ก็เป็นลูกศิษย์ ตนรักลูกอย่างไร ก็รักลูกศิษย์ทุกคนเหมือนลูก ไม่ใช่เฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ แต่หมายถึงลูกศิษย์ทุกคน  มีแต่ความปรารถนาดี นายกฯ เป็นคนเก่ง มีมันสมองใช้ได้ มีการตัดสินเด็ดขาด มีลักษณะผู้นำที่ดี  การเป็นนายกฯ เป็นภารกิจที่หนัก เพราะเป็นผู้นำประเทศ เป็นเทศที่ผมภูมิใจมากจริง ๆ  นายกฯ ทำได้ขนาดนี้ จะไม่ให้ตนภูมิใจได้อย่างไร

นางสาวตรีนุช  เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  กล่าวว่า ในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยบทบาทและความสำคัญของเทคโนโลยี รูปแบบการศึกษาก็ปรับเปลี่ยนเป็นการศึกษายุคดิจิทัล “ครู” จึงต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตนด้วย เพราะผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ได้จากสื่อต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง ครูต้องฝึกทักษะให้ผู้เรียนสามารถสังเคราะห์ความรู้ จากข้อมูลข่าวสารที่แสวงหามา และครูยังมีบทบาทในการสรรสร้างช่วยแนะนำและออกแบบกิจกรรม  ให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น โดยการใช้รูปแบบการศึกษาและนวัตกรรมการสอน ที่มีหลากหลายรูปแบบแยกย่อยออกไปตามคุณลักษณะของผู้เรียน ไปจนถึงการสร้างเงื่อนไขที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถประเมินความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของตนเองได้ การเป็นครูในยุคการศึกษาดิจิทัลนั้น ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่สอนเพียง  อย่างเดียว แต่จำเป็นต้องเพิ่มความสามารถของตัวเองในการสร้างเนื้อหาการเรียนการสอนในสื่อต่าง ๆ มากขึ้น  เพื่อเป็นช่องทางช่วยเหลือให้ผู้เรียนได้เกิดความเข้าใจและแก้ปัญหาด้วย เพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่า สื่อออนไลน์   ที่ผู้เรียนศึกษามานั้นจะถูกต้องและสร้างสรรค์ ดังนั้น ในบทบาทของการเป็น “ครู” จึงต้องสร้างแหล่งข้อมูลสารสนเทศ    ให้มากขึ้นผ่านเทคโนโลยีเว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อประโยชน์ต่อผู้เรียนที่จะได้เข้าใจและทบทวน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ แก้ปัญหา สำหรับการสร้างอนาคตของผู้เรียนต่อไป ส่วนการสนับสนุนครู นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับโอกาสและสิทธิความก้าวหน้าของคุณครูทุกท่าน เพื่อให้คุณครูพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดนิ่ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาผู้เรียนที่อยู่ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และดิฉันเชื่อมั่นในคุณครูทุกท่านว่าจะสามารถบ่มเพาะผู้เรียนให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ ที่มีคุณภาพของประเทศชาติต่อไป

ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมวิชาการ Online บน Platform วันครู ผ่านเว็บไซต์ www.วันครู.com  แบ่งเป็น 3 เฟส คือ เฟสแรก กิจกรรมก่อนงานวันครู เผยแพร่ Infographic ครูต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจ และการเสวนาทางวิชาการ 6 เรื่อง  เฟสที่ 2 กิจกรรมงานวันครู ระหว่างวันที่ 16 – 17 มกราคม 2566 ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยภายในหอประชุมคุรุสภา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จัดให้มีการเสวนาพิเศษ การปาฐกถาพิเศษ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ครั้งที่ 6 สำหรับการจัดงานในส่วนภูมิภาค กำหนดให้ทุกจังหวัดเป็นหน่วยจัดงานวันครู พร้อมทั้งประสานขอความร่วมมือให้สถานศึกษาทุกสังกัดในจังหวัด จัดกิจกรรมสัปดาห์วันครู ระหว่างวันที่ 11 – 17 มกราคม 2566 โดยพิจารณาการจัดกิจกรรมตามความเหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ และเฟสที่ 3 กิจกรรมหลังงานวันครู จัดให้มีการอบรมหลักสูตรออนไลน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา จำนวน 4 หลักสูตร ผ่านทางเว็บไซต์ www.วันครู.com รวมถึงรับชมนิทรรศการผลงานออนไลน์ของผู้ที่ได้รับรางวัลของคุรุสภาและของหน่วยงานอื่นๆ มากกว่า 100 เรื่อง

ในโอกาสวันครู คุรุสภาขอเชิญชวนทุกท่านที่มีครูร่วมระลึกถึงพระคุณครู กลับไปคารวะครู เข้าร่วมกิจกรรมงาน   วันครูกับคุรุสภา ร่วมทำความดี เป็นจิตอาสา และร่วมแชร์ความรู้สึกดี ๆ ต่อครู ใน Facebook FanPage Khurusaphaofficial” และอย่าลืมติด #วันครู2566 #พลังครูคือหัวใจของการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษา รวมถึงร่วมส่งบัตรอวยพรออนไลน์ และดาวน์โหลด Sticker Line Creator “วันครู 2566” หรือ “Teachers’ Day 2023”  ที่ https://line.me/S/sticker/21918411 รายได้จากการจำหน่ายสติ๊กเกอร์จะนำไปสมทบทุนมูลนิธิช่วยครูอาวุโส ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

 

 

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments