เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)ได้มอบหมายให้ ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัย และพัฒนาการอาชีวศึกษา เป็นประธาน ในพิธีเปิดงาน มหกรรมสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ประจำปีการศึกษา 2565 ระดับภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร ณ วิทยาลัยเทคนิคนิคมอุตสาหกรรมระยอง จังหวัดระยอง โดยมีจ่าสิบเอกสมพร ชูทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ รองประธานกรรมการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย นายกิตติพงค์ อุตตมะเวทิน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนิคมอุตสาหกรรมระยอง ในฐานะประธานกรรมการขับเคลื่อนนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพกล่าวรายงาน
ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การจัดงานวันนี้ เป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าทางด้านวิชาชีพต่อผู้เรียน ยกระดับผู้เรียนอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะสูง มีทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ให้เกิดการบูรณาการ นำองค์ความรู้และทักษะใช้ในการประดิษฐ์ คิดค้นสร้างสรรค์ผลงานด้านนวัตกรรมอาชีวศึกษาให้มีมาตรฐาน และสามารถนำไปใช้ได้จริงอย่างมีคุณภาพ อีกทั้งยังเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และเป็นผู้ประกอบการอาชีพอนาคตได้
พร้อมกันนี้ ยังได้เข้าเยี่ยมชมผลงานสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ และอุดหนุนเครื่องดื่มกาแฟ ร้านควินินคาเฟ่ และเยี่ยมชมศูนย์บริการยานยนต์สมัยใหม่ RIETC Express Service Auto Car ซึ่งดำเนินการโดยนักเรียน นักศึกษาของวิทยาลัยเทคนิคนิคมอุตสาหกรรมระยอง
สำหรับการจัดงาน มหกรรมสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ประจำปีการศึกษา 2565 ระดับภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดงานขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 – 15 มกราคม 2565 ณ วิทยาลัยเทคนิคนิคมอุตสาหกรรมระยอง จังหวัดระยอง มีอาชีวศึกษาภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 12 แห่ง มีสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมรวมจำนวน 56 สถานศึกษา มีผู้บริหารสถานศึกษา คณะครูนักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรมรวมจำนวน 1,500 คน โดยมีผลงานที่เข้าร่วมการประกวด/ประเมินสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ประจำปีการศึกษา 2565 รวมทั้งสิ้น 137 ผลงาน จำแนกเป็น 6 ประเภท และได้ประกาศผลรางวัลแต่ละประเภท ดังนี้ ประเภทที่ 1 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี การเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ Thai-Aus Green House จากวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ประเภทที่ 2 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ของมอเตอร์ จากวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ประเภทที่ 3 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงาน สิ่งแวดล้อม รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ รถพลังงานไฟฟ้า 2 ทางเลือก จากวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ประเภทที่ 4 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอาหาร รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ยอหยา สควีซ (สังขยาใบยอ) จากวิทยาลัยพาณิชยการธนบุรี ประเภทที่ 5 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ (Health Care) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ Lokomat เครื่องฝึกเดินสำหรับผู้ป่วย จากวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา ประเภทที่ 6 สิ่งปลระดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ อนุญาโตตุลาเกม ตอนสังเวียนมวย จากวิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ