เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ที่โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ท จ.ปทุมธานี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานประชุมวางแผนการดำเนินงานสัมมนานำเสนอผลงานทางวิชาการสืบสานพระบรมราโชบายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม กลุ่มโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติรัชมังคลาภิเษก ประจำปีการศึกษา 2565 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดย น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักคิดและหลักในการดำเนินชีวิตแก่ปวงชนชาวไทย และทรงพระราชทานพระบรมราโชบายด้านการศึกษา 4 ประการ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม มีงานทำ มีอาชีพ และเป็นพลเมืองดี ซึ่งกลุ่มโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติรัชมังคลาภิเษก ทั้ง 33 โรงเรียน เป็น “กลุ่มโรงเรียนของพ่อ” ที่มุ่งมั่นพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดีและเป็นคนเก่ง โดยคำนึงถึงความต้องการของชุมชน ตามอัตลักษณ์ความแตกต่างของท้องถิ่น เป็นโรงเรียนต้นแบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามแนวทางของพระองค์ท่าน เป็นเรื่องน่าชื่นชมที่กลุ่มโรงเรียนพระเกียรติรัชมังคลาภิเษก ได้สืบสานพระราชปณิธานและพระบรมราโชบายสู่การปฏิบัติ โดยการปรับและจัดการศึกษาลงสู่ผู้เรียน มีการบูรณาการความร่วมมือ และมีผลสำเร็จในการจัดการศึกษาที่ดี จนนำมาสู่การประชุมเตรียมการ เพื่อนำผลงานที่เกิดขึ้นมานำเสนอเผยแพร่ในวงกว้าง
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีเป้าหมายการบริหารจัดการศึกษา ที่ไม่ต้องการทิ้งใครไว้ข้างหลัง และให้การสนับสนุนเพื่อให้เด็กไทยทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาค เท่าเทียมกัน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้นำนโยบายมาผลักดันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการจัดการศึกษา มีการปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายอุดหนุนรายหัว ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในรอบ 10 ปี รวมถึงการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวัน แบบขั้นบันได ใช้งบประมาณรวมมากกว่า 3,500 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ รัชมังคลาภิเษก เป็นกลุ่มโรงเรียนที่มีเครือข่ายแข็งแรง สอดคล้องกับแนวทางของ ศธ. ที่ต้องการให้มีการแบ่งปันทรัพยากรทางการเรียนการสอน เพื่อยกระดับคุณภาพทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชน และนำบริบทที่แตกต่างของแต่ละพื้นที่มาจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเด็ก และสอดรับกับแนวทางการบริหารจัดการศึกษาที่ต้องการให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และเน้นการเรียนการสอนในรูปแบบ Active Learning ที่จะช่วยให้เกิดความรู้ด้วยความเข้าใจ มีทักษะการคิดวิเคราะห์ รวมถึงทักษะการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นคนเก่ง ซึ่งเป็นคุณสมบัติของเด็กรุ่นใหม่ที่จะเติบโตในโลกศตวรรษที่ 21 ขอให้ทุกคนเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการประชุมครั้งนี้ เพื่อเป็นต้นทุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และพัฒนาผู้เรียนต่อไป.