เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2566 ดร.นิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต1 (สพม.กท1) เปิดเผยว่า เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ทำให้การจัดการเรียนการสอน สถานศึกษาต้องหยุดชะงัก จนเกิดรูปแบบการเรียนการสอนมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้มีเด็กจำนวนหนึ่งหลุดจากระบบการศึกษา หรือส่อจะหลุดจากระบบจำนวนมาก เพราะติด “0” “ร” “มส.” รวมถึงเกิดภาวะขัดสนจากสถานการณ์โควิด
ผอ.สพท.กท 1 กล่าวต่อไปว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวกระทรวงศึกษาธิการจึงได้มีโครงการพาน้องกลับมาเรียนโดยร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทำการสำรวจและติดตามนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาเชิงรุกเด็กหลุดออกจากระบบ และเป็นการคืนโอกาส สร้างอนาคตให้เด็ก และเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวของประเทศตามนโยบายรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งในส่วนของ สพม.กท.1 นั้น ได้มีการลงพื้นที่ติดตามนักเรียน ทำให้พบว่า นักเรียนมีปัญหาขาดแคลนปัจจัยดำรงชีพที่เหมาะสมเยอะมาก และยังมีปัญหาการหย่าร้างของผู้ปกครอง เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกทารุณ ปัญหาภาวะซึมเศร้า ซึ่งล้วนแต่เป็นความเสี่ยงที่ทำให้หลุดจากระบบการศึกษา
“นอกจากนี้ยังพบว่า มีเด็กนักเรียนที่ย้ายถิ่นฐานไปมาจำนวนหนึ่งยังตกหล่นอยู่ ไม่ได้รับการติดตามกลับมาเรียน ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นข้อมูลใหม่ที่จำต้องได้รับการป้องกันและแก้ไขด่วน อย่างไรก็ตาม สพม.กท 1 ได้จัดตั้งอาสาสมัครพาน้องกลับมาเรียน (อสร.)เพื่อปูพรมสำรวจข้อมูลและออกติดตามถึงบ้านและชุมชนเชิงรุก ซึ่งในเบื้องต้นสามารถนำนักเรียนกลับเข้าสู่ระบบเชิงประจักษ์ได้เป็นจำนวนมาก“ดร.นิยมกล่าว