พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน เมื่อเร็ว ๆ นี้  โดยได้มีการติดตามการดำเนินงานและขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา พบว่า มีความก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โดยศูนย์ประสานงานนี้เริ่มต้นมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ประสานงานกับกระทรวงแรงงาน(รง.) ในการตรวจสอบข้อมูลตลาดงาน ความต้องการของสาขาอาชีพในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี  จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในพื้นที่อีอีซี เพื่อเป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและผลสัมฤทธิ์ที่ยั่งยืน จากนั้นได้มีการขยายศูนย์ประสานงานฯในพื้นที่ภาคอื่น ๆ จนครบทั้ง 6 ภูมิภาค  แล้วก็ขยายผลเป็นการทำงานในภาพรวมของ ศธ. ที่เรียกว่า 1 ศูนย์กลาง 6 ศูนย์ภูมิภาค 18  ศูนย์กลุ่มจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานของส่วนราชการต่าง ๆ ในการสำรวจฐานข้อมูล เพื่อนำไปสู่การวางแผนการจัดการศึกษา หรือจัดการพัฒนาให้ตรงกับสมรรถนะอาชีพที่เป็นมาตรฐาน รวมถึงเชื่อมโยงความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนงานวิจัยและนวัตกรรม

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้จากการรับฟังรายงานการดำเนินการของศูนย์ฯภาคเหนือแล้ว ได้มีการเร่งรัดเรื่องการทำข้อมูลให้มีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้การขับเคลื่อนงานมีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น รวมถึงได้เร่งรัดการขับเคลื่อนนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ให้มากขึ้นด้วย เพราะหากสามารถทำได้ตรงกับความต้องการ ก็จะนำไปสู่สายการผลิตการสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม  โดยตนได้เน้นย้ำว่า ขอให้ทบทวนเรื่องที่ทำได้ผลในปี 2561 ซึ่งเป็นปีแรกของการดำเนินการที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในการลงทุนได้ถึง 140 ล้านบาท  โดยในรอบปี 2562 ขอให้ทำแผนเพิ่มมูลค่านวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ให้ได้มากกว่าปีที่ผ่านมา  รวมถึงได้เน้นย้ำเรื่องการเพิ่มคุณภาพมาตรฐานสถานศึกษาให้ได้มาตรฐานที่สูงทัดเทียมกันทั้งประเทศ เพื่อให้สามารถให้บริการทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้โดยไม่ต้องเดินทางไกล ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มจำนวนผู้เรียนอาชีวศึกษาได้

“ส่วนเรื่องการจะจัดการศึกษาระบบทวิภาคีนั้น ถือว่าได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน สถานประกอบการเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกรณีที่นายกรัฐมนตรีแนะนำให้ขึ้นทะเบียนครูพิเศษที่มีความเชี่ยวชาญ ในแต่ละสาขาอาชีพเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์และทักษะความรู้ในสาขาอาชีพนั้นให้แก่ครู บุคลากร และนักเรียนศึกษา ปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างดีเช่นกัน ถือเป็นความสำเร็จในการสร้างความรับรู้และการประชาสัมพันธ์ของศูนย์ประสานงานที่ทำให้เกิดความร่วมมือมากขึ้น”พล.อ.สุรเชษฐ์กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments