เมื่อวันที่ 29 ต.ค. คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ความคาดหวังในการปฏิรูปการศึกษาของเครือข่ายสถานประกอบการ โดยมีผู้แทนสภาอุตสาหกรรม ผู้แทนหอการค้า ผู้แทนสถานประกอบการ ผู้แทนสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ผู้แทนสมาคมโรงแรมไทย เข้าร่วม โดย ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธาน กอปศ. กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง “ทิศทางการปฏิรูปการศึกษาให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ” ความสำคัญตอนหนึ่งว่า ตลอดระยะเวลา 17 เดือนที่ผ่านมาของ กอปศ.ในการทำงานเพื่อวางกรอบแนวทางปฏิรูปการศึกษา ที่ได้ร่วมกับทุกภาคส่วน ซึ่งในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เนื้อหาสาระที่ใช้ในการศึกษามีความสำคัญน้อยลงเพราะสามารถค้นหาข้อมูลได้จากช่องทางต่างๆ เพราะฉะนั้น การศึกษาต้องมองไปข้างหน้า หันมาเน้นสร้างสมรรถนะที่ต้องเปลี่ยนแปลงทางความรู้ทั้งการสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และทักษะด้านดิจิทัลเพื่อนำไปสู่การสร้างอนาคตประเทศ ซึ่งระบุไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
ประธาน กอปศ. กล่าวต่อไปว่า กอปศ. ได้วางเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาครอบคลุม 4 เรื่อง คือ 1.ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 2.ยกระดับคุณภาพของการจัดการศึกษา 3.มุ่งความเป็นเลิศและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และ4.ปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ คล่องตัว และมีธรรมาภิบาล ที่ผ่านมาได้ยกร่างกฎหมายไปแล้ว 7 ฉบับ คือ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว ขณะที่สัปดาห์ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. … พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. ….ร่าง พ.ร.บ.กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. …. ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จัดตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. …. อยู่ระหว่างเสนอ ครม. เพื่อพิจารณา รวมถึงร่าง พ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. …ซึ่งอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และจากนี้อีก 7 เดือน กอปศ.จะเร่งทำงานจัดทำข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และกฎหมายลูกรองรับการปฏิรูปการศึกษา รวมถึงสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในแผนการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ด้วย
นายวีรวัฒน์ วรรณศิริ ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ข้อเสนอแนะว่า ภาคอุตสาหกรรม เล็งเห็นถึงความสำคัญของภาคการศึกษา เพิ่มพูนการเรียนรู้และต่อยอดความคิดและการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เห็นด้วยกับการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และมีความเชื่อมั่นว่าคุณภาพการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญในระบบแรงงาน ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพทักษะของผู้ใช้แรงงาน ความเสี่ยงคือการใช้คนที่มีแนวโน้มน้อยลง เพราะการแข่งขันทางธุรกิจสูงมาก ภาคผู้ประกอบการจำเป็นต้องลดต้นทุนและผลิตผลงานออกมาให้ได้มากที่สุด จึงมีแนวโน้มใช้หุ่นยนต์ หรือปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาทดแทนกำลังคน อย่างไรก็ตาม หากเลือกใช้คนทำงานก็ต้องเลือกทรัพยากรที่มีคุณภาพสูงที่สุด ดังนั้น ผลผลิตของทรัพยากรมนุษย์ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาคือ มหาวิทยาลัยต้องผลิตกำลังคนให้มีสมรรถนะและทักษะการทำงานคุณภาพสูงเช่นกัน ไม่ได้เรียนรู้เพื่อก้าวตามแต่ต้องสร้างมันสมองที่คิดนอกกรอบ นอกจากนี้ ยังต้องการกำลังคนที่มีคุณธรรมจริยธรรมอีกด้วย
ด้าน ดร.นพปฎล เดชอุดม ประธานคณะบริหารเพื่อความยั่งยืนขององค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อยากเสนอให้การปฏิรูปการศึกษามองเป้าหมายเหมือนภาคธุรกิจ คือกำหนดเป้าหมายเลยว่าภายใน 6 เดือนเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรที่ทำให้เด็ก ครู ผู้ปกครองรู้สึกว่าเปลี่ยน ทั้งนี้ การพัฒนาคนเพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่จำเป็นต่อภาคอุตสาหกรรมการทำงานในอนาคต คือ ปฏิรูปการศึกษาโดยเริ่มต้นในห้องเรียน,การสร้างความโปร่งใสและความทัดเทียมในการเข้าถึงข้อมูลการศึกษาและองค์ความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกล,สร้างกลไกการตลาด ในการเลือกอาชีพของเด็ก เพื่อสร้างความหลากหลายในการประกอบอาชีพในอนาคต สร้างความเชื่อมโยงการสร้างสมรรถนะและทักษะของผู้เรียนตั้งแต่เด็ก ,การให้ทุนการศึกษาแก่ผู้เรียนที่มีความสามารถ และส่งเสริมการพัฒนาในทุกด้าน ,การบริหารจัดการหน่วยงานด้านการศึกษาที่ใช้มาตรฐานสากล เพื่อสร้างบรรทัดฐานบุคลากรด้านการศึกษาของภาครัฐ และสร้างองค์ความรู้และทักษะการใช้สื่อดิจิทัลให้แก่เด็ก รู้จักการใช้สื่อดิจิทัล
ดร.เอกพล ณ สงขลา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายทรัพยากรบุคคล บริษัท ไทเบฟ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ่งที่ภาคเอกชนคาดหวังจากการรับคนทำงานคือ การได้ผู้ที่มีสมรรถนะ มีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ สามารถสร้างคุณค่าในตัวเองได้ โดยเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาและต่อยอดความรู้ ใส่ใจรายละเอียดในการทำงาน เพื่อรองรับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ยอมรับความผิดพลาด ที่สำคัญมีทักษะในการแก้ไขปัญหา ตรงนี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการปฏิรูปการศึกษายุค 4.0