เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ที่ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษา การวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดย ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) และ นายกฤษฏา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย โดยมีผู้บริหารสถานประกอบการ 38 แห่ง ผู้บริหารและผู้อำนวยการสถานศึกษา เข้าร่วม
น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเข้าสู่สังคมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกในตลาดยานยนต์และช่วยลดมลพิษในอากาศในระยะยาว กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครู และพัฒนานักเรียนนักศึกษา ให้มีความพร้อมรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย โดยสำรวจความต้องการแรงงานของตลาด และวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนให้เพียงพอและมีทักษะสมรรถนะที่จำเป็น พร้อมปรับปรุงหลักสูตรรายวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย โดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานและสถานประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญ เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ สอดรับกับความต้องการนักเรียนนักศึกษาที่มีความรู้ด้านรถยนต์Electric Vehicle (EV) จำนวนมากของกระทรวงอุตสาหกรรม ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะนำพาให้การจัดการอาชีวศึกษาบรรลุสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จได้ในอนาคต
ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ กล่าวว่า พิธีลงนามความร่วมมือในวันนี้ เป็นการผนึกกำลังระหว่างสอศ. กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยและสถานประกอบการทั้ง 38 แห่ง โดยเฉพาะสถานประกอบการที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญ ซึ่งสอดรับกับนโยบายของ รมว.ศึกธิการ ที่สนับสนุนให้สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาหลักสูตรและการจัดการศึกษาที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ สร้างผู้เรียนที่มีคุณภาพ มีความรู้ ความเข้าใจในด้านต่าง ๆและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่ง สอศ. ตั้งเป้าหมายผลิตบุคลากรในระดับช่างฝีมือ ช่างเทคนิค และนักเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับการผลิตและพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ โดยคำนึงถึงคุณภาพความเป็นเลิศทางวิชาชีพ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในยุคปัจจุบัน
ด้าน นายกฤษฎา กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นประโยชน์ ต่อการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การอบรมพัฒนาครูผู้ฝึกสอน การส่งเสริมการสร้างทักษะด้านยานยนต์ไฟฟ้าของนักเรียนนักศึกษาผ่านการจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคี และการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ การวิจัยและพัฒนาคิดค้นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ทั้งนี้เมื่อมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญแล้ว เราอาจได้เห็นธุรกิจแห่งอนาคตที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยบุคลากรคนรุ่นใหม่เหล่านี้ที่เป็นกำลังหลักสำคัญอีกด้วย