เมื่อวันที่21 ธันวาคม 2565 ที่โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยเชียงราย จังหวัดเชียงราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น Thailand-Japan Student ICT Fair 2022 (TJ-SIF2022) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 ธันวาคม 2565 โดยมี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.), คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) , นายโอบะ ยูอิจิ รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, ผู้บริหาร ครู นักเรียน จากกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย (รร.จ.ภ.) , สถาบันการศึกษาที่เน้นการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำ (Super Science High School) จากประเทศญี่ปุ่น และสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วม พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีของนักเรียนกว่า 120 โครงการ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้มาเห็นความก้าวหน้า ในความร่วมมือด้านการศึกษา ระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น และหวังว่าสิ่งประดิษฐ์ด้าน ICT ของนักเรียน จะส่งผลสำคัญต่อเป้าหมายการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต รัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พยายามยกระดับการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีขีดความสามารถที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและของโลกในยุคปัจจุบัน
“วันนี้เราต้องปรับกระบวนการเรียนการสอน ให้เด็กรู้จักคิด เปิดโลกในเรื่องการศึกษาให้กว้างขึ้น ประเทศไทยต้องการแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สามารถทำงานร่วมกับเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของเราไปข้างหน้า ขอฝากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ให้เร่งพัฒนาคน ทางรัฐบาลก็จะหาทางช่วยเหลือสนับสนุนอย่างเต็มความสามารถ อยากให้ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นส่งประกายไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ให้มีการพัฒนาตนเอง ซึ่งต้องหาวิธีการกระตุ้นให้ทั้งครูนักเรียนได้มีโอกาสคิด ว่าจะสร้างการเรียนรู้เหล่านี้ไปยังโรงเรียนอื่นได้อย่างไร” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นางสาวตรีนุช กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศไทย และสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (MEXT) ญี่ปุ่น และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) ที่ได้ริเริ่มความร่วมมือทางวิชาการตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานสิ่งประดิษฐ์ทางด้านไอซีทีของนักเรียน รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์จัดการเรียนรู้ของครู
“โครงการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นับเป็นวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของรัฐบาล ในการขยายโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคและเพิ่มจำนวนผู้มีความสามารถพิเศษในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งผลงานที่ได้เห็นในงาน TJ-SIF2022 นี้ เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า รร.จ.ภ. ทั้ง 12 แห่ง เป็น Good practice ที่ดีต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ซึ่งความสำเร็จเป็นรูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจน คือ เราสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถทำงานเป็นทีมร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างประเทศ และจะส่งผลให้นักเรียนมีความมั่นใจกล้าคิดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ และพร้อมก้าวสู่เวทีโลก อีกทั้งความร่วมมือนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ที่มีมายาวนานกว่า 135 ปีด้วย ดิฉันจะเร่งผลักดันการขยายผลการดำเนินงานของ รร.จ.ภ. ไปยังสถานศึกษาอื่น ๆ ในสังกัด ศธ. เพื่อปลูกฝังกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น ต่อไป” นางสาวตรีนุช กล่าว
ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวเสริมว่า โครงการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยนี้ สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2553 ให้ ศธ. ดำเนินโครงการพัฒนา รร.จ.ภ.ให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยมีโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นต้นแบบ จนสิ้นสุดโครงการในปี 2561 และ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2564 ครม. มีมติให้ขยาย รร.จ.ภ.เพิ่มอีก 6 แห่ง จากเดิม 12 แห่ง รวมเป็น 18 แห่ง ครอบคลุมทุกพื้นที่เขตตรวจราชการ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้สนับสนุนการพัฒนากำลังที่มีศักยภาพสูงด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยมีมติครม.เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2561 อนุมัติโครงการทุนการศึกษาสำหรับนักเรียน รร.จ.ภ.ไปศึกษาต่อที่สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 24 ทุน และต่อมาได้อนุมัติทุนเพิ่มอีกจำนวน 76 ทุน ภายการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น รวมทั้งหมด 6 รุ่น โดยปัจจุบันมีนักเรียนทุนรุ่นที่ 1 – 5 ที่สำเร็จการศึกษาจาก รร.จ.ภ.และกำลังศึกษาต่อที่สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 73 คน ซึ่งมีนักเรียนทุนมากกว่าสิบคนได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยทั้งด้านผลการศึกษาที่ยอดเยี่ยมและผลงานรางวัลจากการแข่งขันในเวทีต่าง ๆ นอกจากนี้ รร.จ.ภ.ยังมีภารกิจในการบริการวิชาการให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ในเขตพื้นที่บริการและเป็นศูนย์พัฒนาขยายผลองค์ความรู้ด้านการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาคต่าง ๆ ด้วยส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในวงกว้างของประเทศไทย
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้ชมการนำเสนอโครงงานแบบปากเปล่าเรื่อง “Psychological Advice System from Analysis of Emotional Tendency using Thai Text and NPL” ซึ่งเป็นเว็บแอปพลิเคชันให้คำแนะนำการจัดการอารมณ์ในเบื้องต้นด้วยเทคนิคการประมวลผลภาษาธรรมชาติ สร้างขึ้นโดยอาศัยหลักการให้คำปรึกษาและรับฟังปัญหาของผู้ใช้งาน เพื่อลดระดับความเครียดและรักษาสุขภาพจิต ผลงานของนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยเชียงราย และการนำเสนอโครงงานเรื่อง “Air Environment Observation and Control System” จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับอากาศและทางเดินหายใจ ส่งผลให้การควบคุมสภาพอากาศภายในห้องพักเป็นสิ่งสำคัญ ทางผู้จัดทำจึงคิดค้นระบบตรวจสภาพอากาศผ่าน Microcontroller เพื่อควบคุมสภาพอากาศในห้องให้มีความเหมาะสมและมีการถ่ายเทอากาศได้อย่างอัตโนมัติ ผลงานของนักเรียน National Institute of Technology (KOSEN), Fukushima College ซึ่งนายกฯ ได้มอบโล่ให้แก่นักเรียนที่นำเสนอโครงงาน จากนั้นได้เยี่ยมชมการแข่งขัน Thailand – Japan Game Programming Hackathon (TJ-GPH 2022) ของนักเรียน , เยี่ยมชมนิทรรศการโครงงานแบบโปสเตอร์ของนักเรียน จำนวน 15 ผลงาน , เยี่ยมชมนิทรรศการของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นิทรรศการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนิทรรศการของอุตสาหกรรมต่าง ๆ.