เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา มอบหมายให้ ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมทางวิชาการ เรื่อง Migrant Education: Challenges and Opportunities โดยมี นางศิริพร ศริพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา นางเซเวอรีน เลโอนาร์ดี รองผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย ผู้บริหาร และบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องประชุม ดิสทริค เอ็ม บอลรูม โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา บางกอก พระนคร กรุงเทพมหานคร
ดร.ภูมิพัทธ กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ที่เปิดกว้างให้เด็กทุกคนไม่ว่าจะเชื้อชาติใดได้เรียนอย่างเสมอภาคทั่วถึง แต่ยังมีกลุ่มเด็กไร้สัญชาติจำนวนมากในประเทศที่ยังเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา เนื่องด้วยข้อจำกัดอย่างการมีเอกสารประจำตัว เลข 13 หลัก หรือหลักฐานเอกสารทะเบียนราษฎร สกศ. จึงจัดการประชุมครั้งนี้เพื่อเป็นเวทีในการร่วมมือกันสร้างความรู้ความเข้าใจ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของเด็กไร้สัญชาติ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในรายงานสภาวการณ์การศึกษาของประเทศ และจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาการคุณภาพการศึกษาของไทยในอนาคตต่อไป
นางเซเวอรีน กล่าวว่า การลงทุนการศึกษาในเด็กข้ามชาติถือเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการสร้างสังคมที่มีความหลากหลายของประเทศ ซึ่งทางรัฐบาลไทยมีนโยบายที่ดีในการจัดการศึกษาในทุกภาคส่วนของประเทศ แต่ยังมีอุปสรรคของช่องว่างระหว่างนโยบายและการปฏิบัติจริงในหลายด้าน อาทิ ข้อจำกัดด้านความแตกต่างของภาษาและวัฒนธรรม และการเข้าถึงสื่อการเรียนรู้และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นโอกาสและความท้าทายอย่างมากของประเทศไทยและยูนิเซฟที่จะร่วมมือกันแก้ปัญหาเพื่อขับเคลื่อนการจัดการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติในไทยให้มั่นใจว่าเด็กข้ามชาติสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ทัดเทียมกับเด็กทั่วประเทศ
ดร.เปรมใจ วังศิริไพศาล จากศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนองานวิจัยเรื่อง “การลงทุนทางการศึกษาสู่อนาคตโลก: สถานการณ์การจัดการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติในประเทศไทย” เปิดผลสำรวจ 7 จังหวัดในประเทศไทย ระยะเวลาร่วม 10 เดือน พบว่า เด็กข้ามชาติอายุระหว่าง 3-18 ปี ส่วนใหญ่ได้รับการศึกษา มีเพียงร้อยละ 18 ที่ไม่ได้เรียน โดยร้อยละ 44 เข้าเรียนในโรงเรียนรัฐ ร้อยละ 27 เข้าเรียนในศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กข้ามชาติ (MLCs) ร้อยละ 3 เข้าเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนเอกชน ร้อยละ 1 เข้าเรียนการศึกษานอกระบบ (กศน.) ซึ่งผู้ปกครองและเด็กข้ามชาติเห็นถึงประโยชน์ของการศึกษาในการพัฒนาด้านทักษะภาษาและการเข้าสังคม รวมถึงการสร้างโอกาสที่ดีขึ้นสำหรับการทำงานในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอุปสรรคด้านการขาดแคลนข้อมูล ค่าเครื่องแบบเครื่องแต่งกาย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเรียน การย้ายที่อยู่ตามการจ้างงานของครอบครัว และการเลือกปฏิบัติในโรงเรียน โดยมีข้อเสนอแนะให้เพิ่มการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายด้านการศึกษาเพื่อปวงชน และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองและเด็กข้ามชาติรับทราบมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์ดิจิทัล สัญญาณอินเทอร์เน็ต และจัดสรรงบประมาณให้ทั่วถึงทุกพื้นที่
นอกจากนี้ ที่ประชุมร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวงเสวนา เรื่อง นโยบาย แนวปฏิบัติ และโอกาสในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ในบริบทพื้นที่และในมิติมหภาค จากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ยูนิเซฟ มูลนิธิช่วยไร้พรมแดน และเยาวชนข้ามชาติ โดยที่ประชุมเห็นถึงความสำคัญในการสร้างความรับรู้เกี่ยวกับการรับเด็กข้ามชาติเข้าเรียน เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการศึกษาถึงผู้ปกครอง เด็กข้ามชาติ รวมถึงสถานศึกษาเอง โดยให้เน้นสื่อสารเรื่องการสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายหัวจากภาครัฐ สถานศึกษาที่อยู่ใกล้บ้าน และตารางการเปิดภาคเรียน อีกทั้ง มีข้อแนะนำให้จัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อช่วยเหลือผู้เรียนเพื่อป้องกันเด็กออกกลางคัน รวมถึงเพิ่มงบประมาณในการจัดการศึกษาและเพิ่มศักยภาพครูให้สอดคล้องและเหมาะสมกับการจัดการเรียนรู้ของเด็กข้ามชาติในแต่ละพื้นที่ เน้นการมีส่วนร่วมของเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้นโยบายของรัฐเกิดการปฏิบัติขึ้นจริง ส่งเสริมและเตรียมความพร้อมให้เด็กข้ามชาติเป็นกำลังสำคัญของตลาดแรงงานในประเทศไทย