เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้ลงนามในประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรื่องแนวทางการใช้ข้อสอบปลายปีของผู้เรียน โดยมีสาระสำคัญ คือ 1.ให้ยกเลิกประกาศ สพฐ.เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมการใช้ข้อสอบกลางในการสอบปลายปีของผู้เรียนลงวันที่ 23 ม.ค. 2561 และบรรดาประกาศหรือคำสั่ง ซึ่งขัดหรือแย้งกับประกาศนี้ 2.ข้อสอบที่ใช้สอบปลายปีของผู้เรียนให้มีข้อสอบแบบเขียนตอบอาจเป็นการเขียนตอบแบบสั้นหรือเขียนตอบแบบยาวร่วมด้วย และ 3.ข้อสอบที่ใช้สอบปลายปีของผู้เรียนสถานศึกษาเลือกใช้ตามแนวทาง ดังนี้ 1.ข้อสอบของสถานศึกษาเอง ที่เป็นข้อสอบวัดการคิดขั้นสูง มีกรอบโครงสร้างข้อสอบตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดตามหลักสูตร และมีกระบวนการสร้างและพัฒนาที่ได้มาตรฐาน 2.ข้อสอบของสถานศึกษาอื่น ที่เป็นข้อสอบวัดการคิดขั้นสูง มีกรอบโครงสร้างข้อสอบตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดตามหลักสูตร และมีกระบวนการสร้างและพัฒนาที่ได้มาตรฐาน เช่นโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด เป็นต้น และ3.ข้อสอบที่พัฒนาโดย สพฐ. หรือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ประกาศดังกล่าวสืบเนื่องจาก นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เห็นว่า ในการสอบ สพฐ.ได้มีการกระจายอำนาจเรื่องหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลักสูตรสถานศึกษาไปให้กับโรงเรียนแล้ว ดังนั้น การสอบต้องเป็นไปตามบริบทของโรงเรียน และโรงเรียนควรจะสอบให้เหมาะสมกับนักเรียน โดยไม่บังคับใช้ข้อสอบกลางของ สพฐ. ดังนั้น ตนจึงให้หลักการไปว่าข้อสอบที่สถานศึกษาออกควรเป็นข้อสอบที่วัดที่ความคิดขั้นสูง ที่นำไปใช้วิเคราะห์ สังเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่ใช้แต่ความจำ แต่ถ้าโรงเรียนออกเองไม่ได้ก็ไปใช้ข้อสอบของโรงเรียนอื่นที่คิดว่ามีคุณภาพ หรือจะเลือกใช้บริการของสอบของ สพฐ.ก็ได้ ทั้งนี้เพื่อใช้ข้อสอบดึงความคิดเด็กได้ และควรมีการเพิ่มข้อสอบอัตนัยให้มาก และแนวโน้มในอนาคตไม่ว่าแบบฝึกหัดท้ายบท จะให้เติมเรื่องอัตนัยเข้าไปให้มากขึ้นด้วย และสอดคล้องกับการประเมินผลการทดสอบโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA)ด้วย