เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กลุ่มผู้แทนศึกษาธิการจังหวัด นำโดย นายณัทชัย ใจเย็น ศึกษาธิการจังหวัดนนทบุรี และคณะ ได้เข้าพบ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอให้ศธ.เสนอปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ …. ฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯโดย นายณัฐชัย กล่าวว่า เนื่องจาก ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 19/2560เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2560 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคทันทีเมื่อพ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ คือ ไม่มีสำนักงานศึกษาธิการภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ที่เกิดขึ้นตามคำสั่งหัวหน้า คสช.19/2560 มีเจตนารมณ์เพื่อการบูรณาการและเชื่อมโยงงานด้านการศึกษาเชิงพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นตัวแทน ศธ.ในระดับภาคและระดับจังหวัด เพื่อประสานความร่วมมือการจัดการศึกษากับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานในสังกัด ศธ. หน่วยงานอื่นที่จัดการศึกษาเพื่อเพิ่มโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายของการจัดการศึกษา รองรับการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน แต่ในบทเฉพาะกาลของ ร่าง พ.ร.บ.ก็ไม่ได้บัญญัติรองรับสถานะของสำนักงานไว้ ซึ่งจะส่งผลเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง คือ ผลกระทบต่อหน่วยงานและบุคลากรบุคลากรในสำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และบุคลากรของคุรุสภาจังหวัด ประมาณ 3,000 คน จะไม่สามารถปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับรวมทั้งกระทบถึงสิทธิที่จะได้รับเงินเงือนเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะ ค่าตอบแทนและผลประโยชน์ตอบแทนอื่น
นายณัทชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ยังกระทบต่อการจัดการศึกษาในพื้นที่ คือ 1.ไม่สามารถขับเคลื่อนงานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) คณะอนุกรรมการบริหารราชการเชิงยุทธศาสตร์ คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษา คณะอนุกรรมการและคณะทำงาน รวมทั้งการปฏิบัติงานราชการที่เป็นไปตามอำนาจและหน้าที่ของ กศจ. และตามที่ กศจ.มอบหมาย 2.ไม่มีหน่วยงานจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาในระดับจังหวัดและแผนปฏิบัติการเชิงบูรณาการในพื้นที่ 3.การกำกับ ดูแล เร่งรัด ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการ หรือหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ให้เป็นไปตามนโยบาย ขาดความเป็นเอกภาพ 4.ไม่มีหน่วยงานจัดระบบ ส่งเสริม และประสานงานเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา ในระดับพื้นที่ 5.ขาดการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาเพื่อคนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีความสามารถพิเศษ 6.การส่งเสริม สนับสนุน และดำเนินการเกี่ยวกับงานด้านวิชาการ การนิเทศและแนะแนวการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท รวมทั้งติดตามและประเมินผลระบบบริหารและการจัดการศึกษาไม่เป็นเอกภาพ 7.ไม่สามารถบูรณาการเกี่ยวกับการตรวจสอบด้านการบริหาร การเงิน และการบัญชีของส่วนราชการ หรือหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัด ศธ. 8.ไม่มีหน่วยงานประสาน ส่งเสริม งานการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการกีฬา เพื่อการศึกษา 9.ไม่มีหน่วยงานทำหน้าที่ กำกับติดตาม ส่งเสริม สนับสนุน และดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการศึกษาเอกชน ซึ่งกระทบงานของโรงเรียนเอกชน ประมาณ 11,054 แห่ง นักเรียนกว่า 3ล้านคน ครูและบุคลากร กว่า 1 แสนคน ขณะเดียวกัน ยังส่งผลให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.)เขตพื้นที่การศึกษาฯ ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ เนื่องขาดองค์ประกอบหลัก คือ ผู้แทนจาก กศจ. ครูและบุคลากรทางการศึกษาจะได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนขั้นเงินเดือน การเลื่อนวิทยฐานะต่าง ๆ ก็จะไม่สามารถทำได้ เพราะองค์ประชุมไม่ครบ
“ดังนั้นจึงขอให้ ศธ.พิจารณาขอปรับปรุงร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ก่อนลงมติในวาระ 3 โดยขอให้พิจารณาตัดข้อความในมาตรา 3 (10)ที่ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 19/2560 รวมถึงขอให้ปรับปรุงแก้ไขอำนาจหน้าที่ ของสำนักงานศึกษาธิการภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (หากจะมี) ในคราวเดียวกับการแก้ไขระเบียบบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการตามที่บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 106 ในร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….. ด้วย ทั้งนี้ทางคณะฯได้มีการรวบรวมรายชื่อผู้ที่คัดค้านการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จำนวน 4,437 รายชื่อ มายื่นต่อ รมว.ศึกษาธิการ ด้วย และจากนี้จะนำไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และผู้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาร่างกฎหมาย รวมถึงพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลและผลกระทบอีกด้านหนึ่ง” นายณัทชัยกล่าว
น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่จะพยายามแตะเรื่องโครงสร้างให้น้อยที่สุด เพราะต้องการเน้นการพัฒนาเด็กทุกช่วงวัยจริง ๆ แต่เมื่อร่างกฎหมายเข้ามาถึงขั้นกรรมาธิการ ก็มีการเสนอความเห็นที่แตกต่าง มีข้อกังวลใจในหลายประเด็น และมีความห่วงใยของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ในวันนี้ผู้แทนศึกษาธิการจังหวัด ก็ได้มานำเสนอให้เห็นว่า ในมาตรา 3(10) การยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 จะมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานศึกษาธิการภาคทั่วประเทศ ซึ่งในส่วนของ ศธ.เห็นว่ายังจำเป็นต้องมีหน่วยงานนี้อยู่ เพื่อเป็นผู้แทนของศธ.ในจังหวัด และในภูมิภาค ซึ่ง ศธ.จะพยายามเต็มที่ ที่จะขอทบทวนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้
“ศธ.ได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ค่อนข้างมาก โดยก่อนหน้านี้กลุ่มผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและศึกษานิเทศก์ ก็ได้มานำเสนอว่าไม่เห็นด้วยในประเด็น ที่ต่อไปจะไม่มีเงินวิทยฐานะ และยังมีอีกหลายมาตราที่จำเป็นต้องปรับปรุง เช่น ในส่วนที่เกี่ยวกับการให้ทุกโรงเรียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งรวมถึงโรงเรียนของรัฐทุกประเภทที่ไม่ได้อยู่ในสังกัด ศธ. ด้วย เช่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนสังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โรงเรียนในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เป็นต้น ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ อย่างไรก็ตามสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนมาร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นเสียงสะท้อนต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ซึ่งทาง สกศ.ในฐานะเลขานุการที่ ศธ. ได้มอบหมายให้ดูแลและดำเนินการในเรื่องร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาตินี้ จะรวมรวบข้อคิดเห็น โดยจะมีการนำข้อเรียกร้องของ ศธจ. ในวันนี้มาวิเคราะห์เข้าไว้ด้วย เพื่อนำเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญฯต่อไป”รมว.ศึกษาธิการกล่าว
ก่อนนัันไม่มี ศธจ.ศธ.ภาค งานทางด้านพัฒนาการศึกษาก็สามารถดำเนินงานไปได้ด้วยดี ถ้าจะไม่่่มี ศธจ.ก็ไม่น่าจะเป็นไร แต่ควรให้มี เขตมัธยม เพิ่มจาก 62 จังหวัด เป็น 77 จังหวัด หรือมากกว่า 77 แห่ง ตามจังหวัดใหญ่ ๆ ควรมีมากกว่า 1 เขต และควรมี สำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชนระดับจังหวัดทุกจังหวัด การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษา ก็ควรแยกว่าเป็นระดับประถม มัธยม อาชีว โดยมีกลุ่มนโยบายและแผน ของเขตพื้นที่ เป็นผู้รับผิดชอบ