เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตทำงานของครูชาวต่างชาติ ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะมีปัญหาความล่าช้าอยู่ ถึงแม้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)จะมีระบบรองรับอยู่แล้ว แต่อาจยังมีปัญหาเรื่องการประสานข้อมูลกันหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ สช.ไปประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้สามารถให้บริการได้จบที่เดียวเป็น One Stop Service อย่างแท้จริง

ด้าน นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการ กช. กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการส่งเสริมการศึกษาเอกชนประเภทสามัญศึกษา ตามที่คณะอนุกรรมการส่งเสริมโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษาเสนอ เพื่อการยกระดับคุณภาพการศึกษา และ เสริมสร้างความเข้มแข็งของสถานศึกษา ในส่วนของการยกระดับคุณภาพการศึกษา จะมีจะเน้นเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งการพัฒนาหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนการสอนและการวัดประเมินผล การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน รวมถึงการพัฒนาครู   ส่วนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถานศึกษา จะมุ่งการพัฒนา 2 ส่วน คือ ปรับแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อต่อการจัดการศึกษาเอกชน เพื่อสามารถทำให้สถานศึกษาเอกชนมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการและมีเอกภาพ  และ พัฒนารูปแบบ/วิธีการขับเคลื่อนกลยุทธ์ในการพัฒนาสถานศึกษา โดยการกำหนดคุณภาพการศึกษาที่ต้องการอย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรมเพียงพอที่จะประเมินผลได้ว่าถึงเป้าหมายแล้วหรือไม่ เพียงใด  อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นว่า เนื่องจากโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา มีความหลากหลายตั้งแต่ระดับพรีเมี่ยมไปถึงการศึกษาสงเคราะห์ที่ดูแลเด็กยากจน ที่ประชุมจึงขอให้กลับไปแยกประเภทโรงเรียนให้ชัดเจนว่า แต่ละกลุ่มมีปัญหาอุปสรรคอย่างไร เพื่อจะได้วางแนวทางในการพัฒนาโรงเรียนได้ตรงกับเป้าหมายและบริบทของแต่ละกลุ่มโรงเรียน

เลขาธิการ กช. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบเกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2566  โดย สช.ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่า สช.ได้มีหนังสือขอความอนุเคราะห์สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ซักซ้อมแนวทางการรับนักเรียนในปีการศึกษา 2566 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ทราบและถือปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้การรับนักเรียนในปีการศึกษา 2566  เป็นไปตามหลักความเป็นธรรม เด็กทุกคนมีโอกาสเข้ารับการศึกษาที่มีคุณภาพ และเกิดการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่จัดการศึกษาในพื้นที่ โดยขอให้แต่งตั้งผู้แทนหน่วยงานที่จัดการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา ไม่เกิน 3 คน เป็นคณะกรรมการรับนักเรียนระดับเขตพื้นที่ฯในจำนวนนี้ให้มีผู้แทนโรงเรียนเอกชนร่วมเป็นคณะกรรมการ อย่างน้อย 1 คน และให้มีการจัดทำแนวปฏิบัติการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2566 ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเสนอคณะกรรมการรับนักเรียนระดับเขตพื้นที่ฯพิจารณาให้ความเห็นชอบ ขอให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมและผลกระทบของโรงเรียนเอกชนในการดำเนินการรับนักเรียนโดยเฉพาะการรับนักเรียนในระดับชั้นก่อนประถมศึกษา (ระดับอนุบาล) ซึ่งเชื่อว่า ทาง สพฐ.จะรับเรื่องนี้ไปดำเนินการ

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments