เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ที่สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดย ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การจะพัฒนาคุณภาพวิชาการในโลกที่มีความผันผวน และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ที่เรียกว่า VUCA World ลำพังเพียงฝ่ายใดแต่ฝ่ายเดียวคงทำไม่ได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือ ซึ่งการทำ MOU ในวันนี้ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ทั้ง 2 ฝ่ายเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพวิชาการ ซึ่งผลสุดท้ายจะเกิดกับผู้เรียน อย่างที่ทราบว่าหลังจากโควิดเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าการเรียนรู้ของผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลง รูปแบบเดิมไม่สามารถตอบโจทย์การเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเกิดจากองค์ความรู้ทั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีภูมิความรู้ทางวิชาการที่จะมาร่วมมือกัน
รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นความร่วมมือในการสร้างนักนวัตกรตั้งแต่ต้นน้ำเพื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย โดยจะร่วมมือกันนำเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของ สจล.เข้าไปสู่กระบวนการเรียนรู้ของ พว.เพื่อสร้างคนให้ตรงกับเทคโนโลยีที่เราต้องการ และจากความร่วมมือครั้งนี้ สจล.จะกลับไปหารือถึงกระบวนการรับนักศึกษา คือ เมื่อสามารถตกผลึกแนวทางได้แล้ว สจล.อาจจะรับนักศึกษาที่มีกระบวนการคิดมากขึ้นและมีทักษะของความเป็นนวัตกรด้วย เพราะถ้าเรารอมาสร้างในมหาวิทยาลัยเลยจะช้าเกินไป เพราะฉะนั้นเราต้องร่วมมือกันทำหลักสูตรนำเทคโนโลยีมาสร้างนักคิด นักเทคโนโลยี เพื่อให้เป็นนักนวัตกรระดับโลกได้เร็วขึ้น
ด้าน ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธาน พว. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการเตรียมการทำความเข้าใจกับโรงเรียนเพื่อพัฒนาอย่างเป็นระบบอย่างต่อเนื่องไปถึงมหาวิทยาลัย โดยจะเน้นกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบให้เกิดกับเด็กตั้งแต่อนุบาลถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีศักยภาพเป็นนวัตกรขั้นต้น เพื่อพร้อมเข้าไปเรียนต่อเป็นนวัตกรระดับสูงในมหาวิทยาลัยและเป็นนวัตกรระดับโลกต่อไป โดยความร่วมมือครั้งนี้ สจล.จะลงมาจากอุดมศึกษาเพื่อมานำครูจากต้นทาง ทำให้ครูเข้าใจว่า สจล.ต้องการเด็กอย่างไร มีกระบวนการคิดอย่างไร และต้องการสร้างนักนวัตกรระดับต้นอย่างไร เพื่อรอรับเด็กไปพัฒนาต่อให้เป็นนักนวัตกรระดับโลกต่อไป
“เราจะไปสร้างความเข้าใจกับผู้สอนและให้แนวทางที่ชัดเจนนำไปสู่การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ที่เปลี่ยนจากการถ่ายทอดเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่จะใช้คำถาม นำข้อมูลมาทำให้เกิดกระบวนการคิดเชิงระบบขั้นสูง นำไปสู่การหลอมรวมคุณธรรมจริยธรรม ก่อนนำไปปฏิบัติอย่างเป็นแบบแผน ฝึกฝน ตรวจสอบ แก้ปัญหา พัฒนา และผลิตเป็นผลงานจนกระทั่งต่อยอดเป็นนวัตกรรม ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้แบบแผนการเรียนรู้และการทำงานเกิดการตกผลึกติดตัวผู้เรียน สามารถนำไปต่อยอด เรียนได้ และทำงานได้ โดยเวลานี้ได้มีการนำร่องการพัฒนานวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียนแล้วอย่างน้อยจังหวัดละ 3 โรงเรียน ซึ่งคาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะครอบทั้งประเทศได้ในราว 5 เดือนข้างหน้านี้”ดร.ศักดิ์สินกล่าว