เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.)เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ได้ร่วมกับกรมเทคนิคและอาชีวศึกษาแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จัดการประชุม TVET Capacity Building Workshop เพื่อหารือกรอบความร่วมมือกรอบการดำเนินงานโครงการ TVET Capacity Building ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างเพื่อสร้างความเข้มแข็งข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันอาชีวศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สำหรับประเทศสมาชิก ประกอบด้วยประเทศไทย สารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กัมพูชา เมียนมาร์ และเวียดนาม ในการยกระดับมาตรฐานและการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพ ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
รองเลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า การประชุมในครั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันอาชีวศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สำหรับประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง ในการยกระดับมาตรฐานและการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพ สนับสนุนการสร้างขีดความสามารถแก่ ครูอาชีวศึกษา นักเรียน นักศึกษา บุคลากรอาชีวศึกษา และสถาบันอาชีวศึกษา ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง ในการจัดลำดับความสำคัญด้านการพัฒนาอาชีวศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ร่วมไปถึงการกำหนดสาขาวิชาชีพที่จำเป็นเร่งด่วน
“ในการประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับกิจกรรมการฝึกอบรมทักษะวิชาชีพมาตรฐานของของสาธารณรัฐประชาชนจีน (Short-term Training Project) ใน 5 สาขา ได้แก่ สาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สาขาการท่องเที่ยว สาขาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และสาขาระบบการขนส่งทางรางและ โลจิสติกส์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยในแต่ละกิจกรรมจะเป็นการแลกเปลี่ยนและหารือการจัดการเรียนการสอนของประเทศสมาชิกและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น คุณสมบัติและมาตรฐานของการจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ กรอบการดำเนินงาน และการสร้างเครือข่ายเพื่อการพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาและวิชาชีพ เป็นการปูทางสำหรับความร่วมมือและ การพัฒนาที่เป็นรูปธรรม เพื่อรับมือกับความท้าทายในประเด็นทางสังคมต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยทุกฝ่ายได้เห็นพ้องต้องกันที่จะจัดประชุมในระดับผู้เชี่ยวชาญและคณะทำงาน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานฯ ในโอกาสต่อไป
สำหรับโครงการ TVET Capacity Building เป็นโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี 2564 (Mekong – Lancane Cooperation (MLC) Special Fund 2021) เป็นโครงการที่เสริมสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศ CLMV และเป็นทางเชื่อมต่อเส้นทางสายไหม ภายใต้นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย