เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) มีการประชุมยกระดับการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีคุณภาพสูง โดย ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)เป็นประธานประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของ สอศ. ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ กล่าวว่า การจัดการศึกษาระบบทวิภาคีเป็นนโยบาย Quick Win ข้อที่หนึ่งของ ของ สอศ. เพราะการจัดการศึกษาในปัจจุบันและอนาคตจะต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่ภาคเอกชนก็ต้องการกำลังคนที่มีคุณภาพ มีฝีมือแรงงานระดับสูงจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ระบบราง ระบบการบิน เป็นต้น ดังนั้นวิทยาลัยอาชีวศึกษาจะเดินหน้าโดยลำพังไม่ได้แล้ว ต้องเชิญภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมจัดการเรียนการสอนด้วย
เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายว่าภายใน 3 ปี สอศ.ต้องเพิ่มผู้เรียนทวิภาคีให้ได้ 50% จากปัจจุบันที่สามารถจัดการศึกษาทวีภาคีได้ประมาณ 20% เท่านั้น แต่ตนเชื่อว่า เมื่อได้เห็นภาคเอกชนขยับและเคลื่อนตัวในวันนี้ จะสามารถทำได้ถึงเป้าหมายแน่นอน เพราะวันนี้อาชีวะเราเปิดรับเอกชนเข้ามาร่วมจัดการศึกษาแล้ว คือ ให้มีโรงงานในโรงเรียน หรือ โรงเรียนในโรงงาน ขึ้นกับภารกิจของแต่ละพื้นที่ โดยขณะนี้มีหลายวิทยาลัยอาชีวศึกษาหลายแห่งเปิดให้ภาคเอกชนนำเครื่องจักร เครื่องมือมาตั้ง และเปิดให้วิทยากรเข้ามาสอนในวิทยาลัยแล้ว ส่วนที่ภาคเอกชนได้สะท้อนมาว่า ยังติดขัดเรื่องระเบียบ หลักเกณฑ์บางตัวอยู่ รมว.ศึกษาธิการ และ สอศ.ก็พร้อมที่จะเร่งแก้ไขตามอำนาจที่มีอยู่ เพราะทุกฝ่ายเห็นว่าการศึกษาระบบทวิภาคีเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้สามารถผลิตคนตามวิสัยทัศน์ใหม่ของ สอศ. คือ ผลิต และพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูงเพื่อการพัฒนาประเทศ
“การประชุมวันนี้มีการหารือกับภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาระบบทวีภาคีทั้งระบบ ตั้งแต่ส่วนกลางไปถึงระดับจังหวัด โดยต่อไปการศึกษาระบบทวิภาคี จะมีคณะกรรมการขับเคลื่อนหลายระดับ คือ ระดับกระทรวงจะมีคณะกรรมการบริหารทวิภาคี มี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน และมีตัวแทนจะสภาอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ ร่วมเป็นคณะกรรมการ ส่วน สอศ.ก็จะมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการศึกษาระบบทวิภาคี มีเลขาธิการ กอศ.เป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักต่าง ๆ เป็นกรรมการ นอกจากนี้ก็จะมีคณะกรรมการระดับภาคและระดับจังหวัดอีกด้วย เพราะผมมองว่า การขับเคลื่อนการศึกษาระบบทวิภาคีจะต้องกระจายตัวลงไปที่จังหวัด โดยมีอาชีวศึกษาจังหวัด (อศจ.) หรือ ผู้อำนวยการวิทยาลัยในพื้นที่เป็นกรรมการ เพื่อทำงานเชื่อโยงกับภาคเอกชนในจังหวัด ที่จะได้ร่วมกันวางแผนว่าในจังหวัดของตนควรจะเดินหน้าทวิภาคีด้านไหน เพื่อให้สอดคล้อง ตอบโจทย์การพัฒนาระดับจังหวัด ทำให้การขับเคลื่อนงานจะรวดเร็วขึ้น” ว่าที่ร้อยตรีดร.ธนุ กล่าวและว่า ทั้งนี้จากการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งประเทศไทยได้ผลักดัน การส่งเสริมการเปิดโอกาสด้านการค้าการลงทุน การส่งเสริมความเชื่อมโยง และการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน โดยมีแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เป็นตัวขับเคลื่อนนั้น สอศ.จะนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG มาขับเคลื่อนการศึกษาระบบทวิภาคีด้วย