เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 นายสง่า แต่เชื้อสาย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) และ ดร.อภิชาติ ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นประธานสักขีพยาน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการความร่วมมือการผลิตและพัฒนากำลังคน ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และ 5G ตอบสนองเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระหว่าง ศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด โดยมี นายนิทัศน์ วีระโพธิ์ประสิทธ์ิ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี นายวิศรุต พิศาล หัวหน้าปฏิบัติการส่วนภูมิภาค ภาคตะวันออก และ นายกฤษฎา อินทรพรอุดม ผู้จัดการฝ่ายลูกค้าองค์กรภาคตะวันออก ร่วมลงนามฯ ณ หอประชุมคมสันวิทยาคม วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี
นายสง่า เปิดเผยว่า ตามนโยบายสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดย ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการกอศ. มุ่งเน้นในการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษาในการผลิต และพัฒนากำลังคนอาชีวะสมรรถนะสูง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คือ อาชีวะพร้อม การศึกษาพร้อม ประเทศไทยเดินหน้า โดยการแสวงหาเครือข่ายความร่วมมือ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการมีส่วนร่วมและการบูรณาการการจัดการเรียนการสอนร่วมกัน ซึ่งสอศ.ในฐานะที่สถานศึกษามีหน้าที่ผลิตกำลังคนให้ตอบสนองตลาดแรงงานโดยมุ่งเน้นการเรียนแบบทวิภาคีมากขึ้น การที่นักศึกษามีองค์ความรู้ ความสามารถด้านเทคโนโลยี 5G ทำให้มั่นใจยิ่งขึ้นว่า ตลาดแรงงานของอาชีวศึกษา มีกำลังคนรองรับอย่างเพียงพอ สามารถนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาสถานประกอบการที่มีความต้องการเป็น ระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติ หรือ Industry 4.0 และสามารถแข่งขันได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทาย
ด้าน นายนิทัศน์ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการชั้นนำ ยกระดับการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาโดยให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม เพื่อการพัฒนาศักยภาพครู นักเรียน นักศึกษา ในรูปแบบการพัฒนาทักษะเดิม (Re – Skill) และเพิ่มเติมทักษะใหม่ (Up – Skill) ให้มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และ 5G เชื่อมโยงภาคการผลิตสู่อุตสาหกรรม 4.0 อีกทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการฝึกประสบการณ์วิชาชีพและการฝึกอาชีพของนักเรียน นักศึกษา ให้มีสมรรถนะตรงตามความต้องการทั้งปริมาณและคุณภาพ ตอบสนองความต้องการในประเทศ และเป็นศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล แก่ครู ผู้เรียนและผู้สำเร็จการศึกษาของสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ส่วน นายวิศรุต กล่าวว่า AIS มีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยี 5G มาพัฒนาเพื่อยกระดับประสบการณ์ดิจิตอลและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทุกภาคในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการศึกษา โดย AIS ได้ร่วมมือ ศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ออกแบบหลักสูตรเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G สำหรับครูและผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการทำงานร่วมกับระบบ AI ได้แก่ 5G Technology ,5G for business ,5G Solution ,5G Use Case และเมื่อเรียนทั้ง 4 หัวข้อ จะมีการจัด Workshop design design thinking 5G solutions for smart industrial เพื่อให้ นักศึกษาได้นำความรู้ด้านเทคโนโลยี 5G มาก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งกระบวนการ วิธีคิด นวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรม