เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565  ที่ ห้องราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายมาร์ติน คอคเคอร์ (Mr. Martin Kocher) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและเศรษฐกิจแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาในการฝึกอบรมโดยใช้การทำงานเป็นฐาน ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทย กับ กระทรวงแรงงานและเศรษฐกิจแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย รวมทั้งการหารือความร่วมมือทวิภาคีด้านอาชีวศึกษาของไทยและออสเตรีย โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการ กอศ. นายสง่า แต่เชื้อสาย ผู้ช่วยเลขาธิการ กอศ. และนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วม

ดร.คุณหญิงกัลยา  กล่าวว่า   การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการขยายความร่วมมือในการสนับสนุนด้านวิชาการ เครื่องมือและบุคลากรให้กับอาชีวศึกษาทั่วประเทศ เป็นการยกระดับมาตรฐานอาชีวศึกษาของไทยให้เข้มแข็งและเทียบเท่ามาตรฐานของออสเตรีย โดยครั้งนี้มีกรอบระยะเวลา 5 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนากรอบความร่วมมือทั้งในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ ซึ่งเน้นการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และตอบสนองความต้องการด้านแรงงานของภาคเอกชน

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการออสเตรียที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศไทยจำนวนมากที่ต้องการแรงงานไทยที่มีฝีมือ  ความร่วมมือทวิภาคีในครั้งนี้ไม่เฉพาะพัฒนาหลักสูตรการเรียน แต่รวมไปถึงการประเมินผลตามมาตรฐานการทำงานของออสเตรีย ซึ่งในอนาคตนักเรียนอาชีวะที่จบการศึกษานอกจากจะมีคุณวุฒิวิชาชีพมาตรฐานของไทยแล้วยังได้รับการรับรองมาตรฐานของออสเตรียด้วย สามารถเข้าทำงานในสถานประกอบการออสเตรียที่อยู่ในประเทศไทยและในต่างประเทศ ถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับอาชีวศึกษาไทย

“ขอขอบคุณรัฐบาลสาธารณรัฐออสเตรียที่ได้ให้การสนับสนุนและร่วมพัฒนาด้านอาชีวศึกษาของไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2533 โดยเฉพาะการจัดตั้งวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ (Thai-Austrian Technical College) รวมทั้งการจัดอบรมครูและนักเรียนของสถาบันอาชีวศึกษาไทยมาอย่างต่อเนื่อง  เชื่อมั่นว่าการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการอาชีวศึกษาของไทยให้เข้มแข็งและเทียบเท่ามาตรฐานของออสเตรีย เป็นการติดปีกให้กับเด็กไทยเมื่อจบการศึกษาแล้วสามารถไปทำงานกับผู้ประกอบการหรือประเทศออสเตรียหรือประเทศอื่นๆ ที่ให้การรับรองมาตรฐานออสเตรีย”ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

ด้าน นายมาร์ติน กล่าวว่า สาธารณรัฐออสเตรียมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนด้านวิชาการ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ตามความสนใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถผลิตแรงงานที่มีมาตรฐานในระดับสากลตอบสนองความต้องการแรงงานของภาคเอกชนทั้งในประเทศไทยและออสเตรีย

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
1000


0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments