เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน ที่จะถึง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะเข้าร่วมประชุมภาคพื้นเอเชียและยุโรป ว่าด้วยเรื่องการดูแลเด็กปฐมวัย ที่ประเทศอุซเบกิสถาน โดยมีประเทศที่เป็นสมาชิกยูเนสโกกว่า 60 ประเทศเข้าร่วม ซึ่งในจำนวนนี้มีรัฐมนตรีการศึกษาจากกว่า 30 ประเทศที่ตอบรับเข้าร่วมการประชุม โดยการประชุมครั้งนี้จะเป็นการหารือและเปิดให้ผู้นำการศึกษาของแต่ละประเทศได้แสดงวิสัยทัศน์การดูแลเด็กปฐมวัยของประเทศนั้น ๆ โดยในส่วนของประเทศไทย รมว.ศธ.จะแสดงวิสัยทัศน์การดูแลเด็กปฐมวัยหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 การแก้ปัญหาการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learing Loss รวมถึงเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา เพื่อให้ประเทศต่างๆ เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการดูแลทั้งเรื่องสุขภาพ การเรียนการสอนและความปลอดภัยของเด็ก และเมื่อสิ้นสุดการประชุมก็จะมีการประกาศปฏิญญาร่วมกันเกี่ยวกับกรอบมาตรฐานที่ควรมีในการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วย
ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในการประชุมจะมีการหารือระดับผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เป็นผู้เรียนที่เหมาะสมในศตวรรษที่ 21 เป็นคนในอนาคตของโลกที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน คลุมเครือ หรือ VUCA World โดยตนจะนำเสนอแนวทางการพลิกโฉมการศึกษาของประเทศไทย เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีทักษะการคิดมากขึ้น การเรียนการสอนเป็นแบบ Active Learning มากขึ้น เพื่อสร้างให้เด็กเป็นนวัตกรในอนาคต ซึ่งเป็นทิศทางการพัฒนาเด็กตามแผนพัฒนาการศึกษาของชาติ ที่จะทำให้ภาพจำการจัดการศึกษารูปแบบเดิม ๆ เปลี่ยนไป และจะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนมากขึ้น
“การพัฒนาเด็กช่วงปฐมวัย อายุ 0-5 ปี เป็นช่วงวัยที่ควรเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้สำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างปลอดภัยเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีมุมมองต่อโลกอย่างกว้างขวาง มีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาทุกด้านพร้อมกัน ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ควบคู่กับการพัฒนาผู้ปกครอง ผู้ดูแล และครูให้มีความรู้เกี่ยวกับวิธีการพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยเฉพาะ โดย 5 อันดับทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต ประกอบด้วย 1. การคิดเชิงสร้างสรรค์ Creative Thinking 2.ความอยากรู้อยากเห็น Curiosity 3.ความสามารถทางกายภาพ Physical Ability – การแก้ปัญหาProblem-solving – การสื่อสาร Communication Skills 4.การอ่านออกเขียนได้ Literacy และ 5.ความเข้าใจและการใช้งานเทคนโลยีดิจิทัล Digital Literacy” ดร.อรรถพลกล่าว