เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2565 ที่ โรงแรมดิอิมพีเรียล จังหวัดพิษณุโลก ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)กล่าวในการประชุมผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ว่า ตนได้หลอมรวมนโยบายรัฐบาล นโยบาย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ และนโยบาย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ มาสู่การปฏิบัติ เป็นจุดเน้นหลักในการปฏิบัติราชการของสอศ.ในปีงบประมาณ 2566 ในการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษา เพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ใน 7 นโยบายเร่งด่วน คือ 1.การยกระดับอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ซึ่งภาคเอกชนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ แต่ที่ผ่านมายังทำได้น้อยมาก เนื่องจากอาชีวะยังไม่เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นต่อไป ตนจะเชิญภาคเอกชนมาพูดคุย เพื่อให้การจัดการอาชีวศึกษาตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ และความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างคนให้สามรรถแข่งขันได้ 2.การยกระดับโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ ซึ่งเป็นโครงการทีให้โอกาสเด็กด้อยโอกาสเข้ามาเรียนเพื่อให้เขาได้โอกาส 3.การขับเคลื่อนโครงการทวิศึกษาแนวใหม่ ซึ่งรมว.ศึกษาธิการเน้นย้ำว่าเป็นการเติมเต็มโอกาสให้เด็กในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)โดยเน้นไปที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และโรงเรียนในโครงการพระราชดำริ เพื่อให้เด็กกลุ่มที่ด้อยโอกาสเป็นผู้ได้โอกาส โดยจะนำหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.)เข้าไปจัดในโรงเรียนเหล่านี้ เพื่อให้เด็กได้รับวุฒิมัธยมปลาย และปวช.และสามารถทำงานได้ทันที 4.ขับเคลื่อนศูนย์อาชีวะช่วยประชาชน เนื่องจากอาชีวศึกษามีเครื่องไม้เครื่องมือที่พร้อมและนักศึกษาก็พร้อมที่จะออกไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในทุกสถานการณ์ ซึ่งตนย้ำเสมอว่าอาชีวะจะต้องจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์พัฒนาประชาชน และเข้าถึงประชาชน ซึ่งที่ผ่านมามีหลายกิจกรรมได้รับการชื่นชมและคำขอบคุณจากนายกรัฐมนตรี ที่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทุกสถานการณ์ 5.ขับเคลื่อนศูนย์ความปลอดภัย สอศ.ซึ่งเป็นเรื่องที่รมว.ศึกษาธิการเน้นย้ำและให้ความสำคัญ เนื่องจากนักศึกษาอาชีวะ99%เป็นเด็กดี ไม่มีเหตุทะเลาะวิวาท มีเพียงส่วนน้อยที่ก่อเหตุรุนแรงตนจึงฝากย้ำผู้อำนวยการทุกวิทยาลัยได้ติดตามดูแลนักศึกษากลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ โดยยึดนโยบาย 3 ป.ของ รมว.ศึกษาธิการ คือ ป้องกัน ปลูกฝัง ปราบปราม มาใช้ ซึ่งสุดท้ายถ้าจัดการไม่ได้ก็ต้องใช้กฎหมายบ้านเมืองมาดำเนินการ 6.ปฏิรูปกลุ่มวิทยาลัยเกษตรและประมง โดยตนจะเรียกประชุมผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอีกครั้ง และ 7.สร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษา ซึ่งอาชีวะมีสิ่งดี ๆ มากกมายแต่ที่ผ่านมาอาจจะประสัมพันธ์ไม่มากเท่าที่ควร ดังนั้นต่อไปตนจะเน้นเรื่องการประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ภาพลักษณ์ของอาชีวะเพิ่มขึ้น
เลขาธิการกอศ.กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้สอศ.กำลังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรครู เนื่องจากมีนักศึกษาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการตรวจสอบกรอบอัตรากำลังจะต้องมีอัตรากำลังครูไม่น้อยกว่า 3 หมื่นอัตรา แต่ปัจจุบันสอศ.มีอัตราเพียง 2 หมื่นอัตรา ยังขาดแคลนอีกถึงกว่า 1.8 หมื่นอัตรา ซึ่งตนมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญ จึงได้หารือรมว.และรมช.ศึกษาธิการ แล้ว ได้รับคำแนะนำว่าให้ไปดูว่าติดปัญหาอะไร และต้องแก้ไขอย่างไร นอกจากนี้ตนยังได้ไปหารือกับเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)แล้ว ซึ่งเลขาธิการก.ค.ศ.ก็รับปากว่าจะนำปัญหาดังกล่าวเสนอบอร์ดก.ค.ศ. เพื่อขออัตรากำลังเพิ่ม โดยเบื้องต้นจะต้องขอเป็นอัตราจ้างก่อน อย่างไรก็ตาม คิดว่าอาจจะต้องไปขอพบนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ(คปร.)เพื่อขอให้ช่วยปลดล็อก เนื่องจากการอาชีวศึกษามีภารกิจสำคัญในการพัฒนาประเทศ สร้างคน สร้างชาติ แต่ถ้ายังขาดแคลนครูก็จะเป็นอุปสรรคในการก้าวสู่ความสำเร็จ