เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2565 ที่ โรงแรมดิอิมพีเรียล จังหวัดพิษณุโลก ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศึกษาธิการ)กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ว่า เนื่องจากขณะนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก มีความไม่แน่นอน มีความผันผวน ทำให้ต้องมองว่าตลาดแรงงานต้องการอะไร เพื่อจะได้ผลิตกำลังคนป้อนให้ตรงกับตลาดแรงงาน จึงจำเป็นต้องมีทักษะใหม่ ทัศนคติใหม่ต่อการผลิตกำลังคน เพื่อสนองต่อความวุ่นวายของโลก และการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะต้องวางพื้นฐานการสร้างการคุ้มกันให้เด็ก และต้องให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ชอบ โดยครูทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้ตรงกับความต้องการของเด็ก และเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ซึ่งจะทำให้เด็กสนุกกับการเรียน และกลับไปค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง ซึ่งการเรียนการสอนแบบนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กมีอาชีพและมีงานทำในอนาคต

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า แนวทางการผลิตคนแม้ต้องใช้เวลาหลายปี แต่ทิศทางจะต้องไม่เปลี่ยน คือ ต้องมุ่งสร้างเด็กอาชีวะที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและของโลก คือ สร้างคนเพื่อมุ่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพราะฉะนั้นการเรียนการสอนก็จะใช้ Project based Learning คือ เรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน ได้มีการฝึกงาน เป็นการเรียนรู้แบบ Active Learning คือมีกระบวนการเรียนรู้จนเกิดนวัตกรรมที่ตรงกับความต้องการของผู้เรียน อย่างไรก็ตามเราจะไม่สามารถคาดการณ์ที่แน่นอนได้ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด ดังนั้นจะต้องมีการฝึกเด็กอาชีวะให้มีการเรียนรู้ทั้งวิชาการและลงมือปฏิบัติ สามารถทำงานได้
“อย่างไรก็ตาม ในการจัดการเรียนการสอนจะต้องฟังผู้ประกอบการ สังคม และผู้จ้างงาน โดยเปิดให้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตกำลังคน เพื่อป้อนตลาดแรงงานให้ตรงกับความต้องการ และต้องให้ผู้ประกอบการเข้ามาช่วยในเรื่องของการเงิน เครื่องไม้เครื่องมือ เพื่อเพิ่มสมรรถนะให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญจะต้องใช้ CODING และ STI & STEAM มาเป็นภูมคุ้มกัน ทำให้ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์ได้ และเผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยที่เราคาดการณ์ไม่ได้ ให้ได้ เพื่อให้ผู้เรียนมีทั้งความสุข ความรู้ และสามารถแข่งขันได้”ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments