ดร.อรรถพล สังขวาสี รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้หารือร่วมกับ นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เกี่ยวกับการยกระดับมาตรฐานแหล่งเรียนรู้ ศูนย์การศึกษาต่างๆ และการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพให้แก่กลุ่มคนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เพราะ กศน.ถือเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมให้คนที่ขาดโอกาสสามารถเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น โดยมองว่า การทำงานต่อไปควรจะยกระดับศูนย์การเรียนรู้ที่ได้รับพระราชทานนาม เช่น ห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี จำนวน 113 แห่ง สถาบันการศึกษาและพัฒนาต่อเนื่องสิรินธร ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดน จำนวน 30 แห่ง เป็นต้น และต้องกลับไปทบทวนว่าแหล่งการเรียนรู้เหล่านี้ ได้รับการพัฒนาอย่างสมพระเกียรติที่ได้รับการพระทานนามหรือไม่ และได้ขับเคลื่อนงานไปตามพระราชดำริหรือไม่ เช่น คุณภาพของหนังสือ สภาพอาคารสถานที่ เป็นต้น

ดร.อรรถพล กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้หารือกันว่าจะทำอย่างไรที่ กศน.จะเชื่อมโยงแหล่งข้อมูลการศึกษาจากทั่วทุกมุมโลกได้ เพราะปัจจุบันโลกการศึกษาเปลี่ยนไป เราก็ควรจะพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงด้วย เช่น หนังสือเรียนฟรี 15 ปี ที่ปัจจุบันอาจจะไม่ตอบโจทย์แล้ว ก็อาจจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจดูว่าหนังสือเรียนฟรีเหล่านี้ มีเนื้อหาที่เข้ากับยุคสมัยหรือไม่ และจะทำอย่างไรที่จะนำหนังสือเหล่านี้เข้าไปในแพลตฟอร์มทางการศึกษา เป็นต้น ส่วนกลุ่มคนที่ไม่รู้หนังสือก็ได้วางแผนร่วมกันว่าจะทำอย่างไร ที่จะส่งเสริมให้เข้ามาเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น โดยตนได้มอบหมายให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และ กศน.ที่มีบุคคลกรจำนวนมาก ไปทำงานร่วมกัน โดยให้ กศน.ไปผลักดันให้เกิดอาสาสมัครกระทรวงศึกษาธิการ (อสศธ.) ซึ่งจะทำหน้าที่คล้ายกับ อสม.หรือ อาสาสมัครสาธารณสุข ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยจะเปิดให้ข้าราชการครูที่เกษียณมาเป็นจิตอาสา ลงพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้กลุ่มคนที่ไม่รู้หนังสือในพื้นที่ของตน

“ส่วนการพัฒนาคุณภาพของ กศน.นั้น ผมได้มอบหมายให้ กศน.ไปตั้งสถานีอาชีพ เพื่อส่งเสริมอาชีพให้เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา โดยร่วมมือกับวิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)ในพื้นที่ เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่นั้นๆ ซึ่งเบื้องต้น จะเริ่มนำร่องทำสถานีอาชีพในจังหวัดชายแดนใต้ก่อน เพราะในพื้นที่นี้ มีกลุ่มคนไทยที่ต้องข้ามไปทำงานประเทศเพื่อนบ้านเฉลี่ย 2-3 แสนคน ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งที่เข้าเรียน กศน.แต่ไม่สามารถจบการศึกษาได้ เพราะติดขัดเรื่องการทำงานที่ต้องไปต่างประเทศบ่อย และติดขัดด้านภาษา ดังนั้นจะให้เขากลับมาเรียนในลักษณะการสะสมหน่วยการเรียนรู้ หรือ Credit Bank และให้ กศน.ไปเติมเต็มวิชาและความรู้ที่เขายังขาดอยู่ หรือส่งเสริมให้คนเหล่านี้มีทักษะอาชีพ สามารถทำงานในประเทศไทยได้” รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าว และว่า สำหรับครูในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใย ก็เป็นกลุ่มเป้าหมายแรกที่ตนจะเร่งพัฒนาในเรื่องต่างๆ โดยจะเข้าไปดูว่ามีเรื่องไหนติดขัดบ้าง และมีเรื่องไหนที่ต้องพัฒนา ก็เร่งจัดการ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ครูเหล่านี้ เพราะครู กพด. เป็นคนที่ทำงานหนัก เสียสละเพื่อประเทศชาติ

3 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments