เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์(รปค.)15 จังหวัดพะเยา และ รปค.56 จังหวัดน่าน ซึ่งได้จัดการศึกษารูปแบบทวิศึกษาได้เป็นอย่างดี ดังนั้นตนจึงอยากจะเห็น การนำระบบทวิศึกษามาทำให้ต่อเนื่อง เพราะจากการได้รับรายงานทราบว่าการจัดทวิศึกษายังไม่มีความต่อเนื่องเป็นรูปธรรม มาหลายปีแล้ว จึงอยากให้ทำในภาพรวมของประเทศ

“ดิฉันได้รับเสียงสะท้อนมาว่าการเรียนการสอนทวิศึกษาเด็กและผู้ปกครองให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการจัดการศึกษาที่นำอาชีพมาสอนในโรงเรียนสามัญ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้จัดทำหลักสูตรร่วมกัน ซึ่งเด็กที่จบออกมาจะได้ประกาศนียบัตรสองใบ คือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)และได้รับวุฒิการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายด้วย”น.ส.ตรีนุช กล่าว

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนรูปแบบทวิศึกษา เป็นความร่วมมือระหว่าง สพฐ.กับ สอศ. ที่เคยจัดมาแล้ว แต่ก็ได้เว้นช่วงไป ตอนนี้จะฟื้นขึ้นมาใหม่ โดยจัดในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ คู่กับวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่อยู่ใกล้เคียง กับโรงเรียนมัธยมศึกษาเดิมที่เคยจัดแล้วร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่อยู่ใกล้เคียง โดยขณะนี้ มีโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ สมัครร่วมโครงการแล้ว 30 กว่าแห่ง ซึ่งการที่เราฟื้นความร่วมมือนี้ขึ้นมา จะทำให้เด็กโดยเฉพาะเด็กในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ซึ่งเป็นเด็กด้อยโอกาส จะได้เรียนทั้งสายสามัญ และสายอาชีพ สามารถทำงานได้ และได้วุฒิการศึกษาทั้งสายสามัญและสายอาชีพ เป็นการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ที่ต้องการให้เด็กเรียนสายอาชีพเพิ่มมากขึ้น

“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการปรับการเรียนรูปแบบทวิศึกษา ไปเป็นห้องเรียนอาชีพ ซึ่งไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน เนื่องจาก ถึงแม้เด็กจะได้เรียนทั้งสายสามัญ และสายอาชีพ แต่ในส่วนของสายอาชีพนั้น เด็กจะได้แค่หน่วยกิตสะสม แต่จะไม่ได้วุฒิสายอาชีพ จึงทำให้เด็กไม่สนใจ และโครงการไม่ประสบความสำเร็จ จึงจำเป็นต้องกลับมาฟื้นทวิศึกษา เพื่อให้เด็กที่เรียนแล้วได้ทั้งอาชีพและวุฒิการศึกษา” ดร.อัมพร กล่าว

ด้านว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)กล่าวว่า สพฐ.และ สอศ. ได้ตั้งคณะทำงานที่จะมาจัดทวิศึกษาร่วมกันเรียบร้อยแล้ว โดยจะเริ่มตั้งแต่ภาคเรียนที่1 / 2566 โดยจะนำร่องที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ทั่วประเทศให้เต็มรูปแบบก่อน ส่วนโรงเรียนที่จัดอยู่แล้วก็จะไปทำให้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามจะไม่เน้นจัดทวิศึกษากับโรงเรียนที่อยู่ในเมือง แต่จะเน้นในพื้นที่ห่างไกลที่อยู่ตามรอบนอกเพื่อสร้างโอกาสทางอาชีพให้กับเด็ก

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments