ว่าที่ร้อยตรี ดร. ธนุ วงษ์จินดา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า จากนโยบายสถานศึกษาปลอดภัย ของนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษาและมุ่งเน้นพัฒนาระบบและกลไกในการดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ ด้วยการขับเคลื่อนตามหลัก 3 ป ได้แก่ ป้องกัน ปลูกฝัง และปราบปราม ให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุดและเพื่อเป็นการดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษาแบบรอบด้าน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จึงได้มีหนังสือ เรื่องมาตรการดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่ ศธ 0606/6532 ลงวันที่7 ตุลาคม 2565 โดยขอให้สถานศึกษามีมาตรการและดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษา ดังนี้
1. กำหนดมาตรการป้องกันร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งกำหนดวิธีการที่ชัดเจน และนำสู่การปฏิบัติ
2. ให้สถานศึกษาจัดทำแผนเฝ้าระวังเหตุและปฏิทินการดำเนินงาน และวิธีการป้องกันการใช้ความรุนแรงของนักเรียน นักศึกษาให้ชัดเจน
3. ให้สถานศึกษาสำรวจ คัดกรอง เฝ้าระวัง และติดตาม ดูแลพฤติกรรมนักเรียนนักศึกษา ที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง
4. ให้สถานศึกษากวดขันนักเรียน นักศึกษา ให้อยู่ในระเบียบวินัยของสถานศึกษาอยู่เสมอ และปฏิบัติตนตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้มีการบังคับใช้กฎหมาย ประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
5. ให้สถานศึกษาจัดประชุมผู้ปกครองนักเรียน นักศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา โดยถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และร่วมกันสอดส่องดูแลบุตรหลาน โดยเฉพาะเวลาเดินทางไป–กลับ เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้
6. ให้สถานศึกษาสอดส่งดูแลมิให้บุคคลแปลกหน้าเข้าไปในสถานศึกษาโดยเด็ดขาดและกวดขันให้กีการตรวจสอบผู้ผ่านเข้า–ออกสถานศึกษาอย่างเข้มงวด โดยห้ามมิให้บุคคลใดพกพาอาวุธทุกชนิดเข้ามาในสถานศึกษา ยกเว้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ
7. เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษา ให้ผู้บริหารสถานศึกษาร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที และรายงานให้ต้นสังกัดทราบโดยด่วน