เมื่อวันที่ 28 กันยายน นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้ชี้แจงกรณีที่มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษธนาคารออมสินเกี่ยวกับการทำประกันสินเชื่อโครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา( ช.พ.ค.) ว่า กรณีดังกล่าวธนาคารได้เคยชี้แจงต่อหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล ทั้ง คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ กรมสอบสวนคดีพิเศษ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และกระทรวงศึกษาธิการ ตามรายละเอียดดังนี้

ในปี 2542 รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.)จัดหาเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู เพื่อให้ข้าราชการครูไปชำระหนี้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ โดยได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเป็นเงิน 500 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู กระทรวงศึกษาธิการจึงมีหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินพิจารณา และจากการพิจารณาหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กลุ่มข้าราชการครูที่เป็นหนี้สิน และธนาคารออมสิน ได้กำหนดเจตนารมณ์ร่วมกันให้มีการรวมหนี้นอกระบบทั้งหมดของผู้กู้มาไว้ที่ธนาคาร โดยผู้กู้จะรวมกลุ่มย่อย 5-10 คน เพื่อค้ำประกันซึ่งกันและกัน กรณีมีผู้กู้คนใดคนหนึ่งเสียชีวิต ผู้ค้ำประกันในกลุ่มจึงต้องรับภาระหนี้แทน จึงมีการเรียกร้องให้มีการทำประกันเพื่อประกันสินเชื่อตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เมื่อผู้กู้เสียชีวิตจะไม่ทิ้งภาระไว้ให้แก่ ผู้ค้ำประกันและทายาท ซึ่งเก็บค่าเบี้ยประกันครั้งเดียวตลอดอายุสัญญา เช่น สัญญา 20 ปี ผู้กู้ต้องทำประกันและจ่ายเบี้ยประกัน 20 ปี และค่าเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับ เพศ อายุผู้กู้ (ไม่เกิน 60) ทุนประกัน และระยะเวลาเอาประกัน ซึ่งหากวงเงินกู้เกิน 2 ล้านบาทต้องตรวจสุขภาพ และอาจต้องจ่ายเบี้ยประกันเพิ่ม ซึ่งวงเงินความคุ้มครองจะลดลงตามภาระเงินกู้ ทำให้มีความเสี่ยงจากทุนประกันที่ลดลงอาจไม่เพียงพอกับมูลหนี้คงเหลือ

ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.)มีโครงการช่วยเหลือสมาชิก ช.พ.ค. โดยการจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยที่เหมาะสม เพื่อสมาชิกจะได้นำเงินกู้ไปเป็นค่าใช้จ่ายในยามจำเป็น จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงกับธนาคาร ตั้งแต่ปี 2548 โดยในโครงการแรก ๆ ให้กู้ได้ไม่เกิน 200,000 บาท ต่อมาปี 2552 สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.     ได้สำรวจความต้องการของสมาชิก และขอแก้ไขหลักเกณฑ์เงื่อนไขจากเดิม วงเงินกู้ไม่เกิน 200,000 บาท เป็น 600,000 บาท และใช้ชื่อ “โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. โครงการ 5” ซึ่งเมื่อวงเงินกู้เพิ่มขึ้น สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. จึงเพิ่มทางเลือกให้ผู้กู้ทำประกันสินเชื่อตามความสมัครใจ ซึ่งถ้าหากไม่ทำประกันฯ เมื่อผู้กู้เสียชีวิต เงิน ช.พ.ค. ที่ทายาทจะได้รับในขณะนั้นประมาณ 700,000 บาท หักค่าทำศพ 200,000 บาทแล้วจะถูกนำมาชดใช้หนี้เงินกู้และดอกเบี้ยให้แก่ธนาคาร ซึ่งอาจไม่เพียงพอชำระหนี้ และตกเป็นภาระของทายาทและผู้ค้ำประกันต่อไป หรืออาจไม่มีเงินเหลือให้ทายาทเลย ทำให้ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการให้ทายาทได้รับเงิน ช.พ.ค. เมื่อสมาชิกเสียชีวิตแล้ว สำนักงาน สกสค. จึงขอให้ธนาคารออมสินประสานบริษัทประกันเพื่อจัดทำประกันสินเชื่อ ซึ่งบริษัทประกันได้เสนอ “การทำประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพสินเชื่อปลอดภัย” โดยมีเงื่อนไขที่แตกต่างจากแบบเดิมที่กำหนดความคุ้มครองแบบทุนประกันลดลงตามภาระเงินกู้ เป็นแบบคุ้มครองเต็มวงเงินกู้ (แบบทุนประกันคงที่) เพื่อลดความเสี่ยงทุนประกันไม่พอกับมูลหนี้คงเหลือ รับประกันทุกรายที่แจ้งความประสงค์ ไม่ต้องตรวจสุขภาพทุกวงเงิน (วงเงินสูงสุด 3 ล้านบาท) คุ้มครองเต็มวงเงิน อายุไม่เกิน 65 ปี คุ้มครองคราวละไม่เกิน 9 ปี เมื่อกรมธรรม์ครบกำหนดต่ออายุได้ไม่เกินคราวละ 9 ปี และคุ้มครองไม่เกินอายุ 74 ปี โดยคิดค่าเบี้ยประกันจากจำนวนเงินกู้คงเหลือในอัตรา 620.-บาท/ปี/ทุนประกัน 100,000 บาท ซึ่งค่าเบี้ยประกันดังกล่าวได้คำนวณอัตราส่วนลดสำหรับการจ่ายค่าเบี้ยประกันล่วงหน้า 9 ปี ไว้แล้ว โดยให้ความคุ้มครองภัยจากอุบัติเหตุและสุขภาพ การเจ็บป่วยด้วยภาวะโรคร้ายแรง คือ ภาวะโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ภาวะโคม่า (Coma) ภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลว (Respiratory failure) ภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว (Brain Death and Neurologic Failure) เงื่อนไขความคุ้มครองและอัตราค่าเบี้ยประกัน ได้มีการพิจารณาข้อมูลในการทำประกันในลักษณะเดียวกันที่มีอยู่ในท้องตลาด และได้รับการพิจารณาและอนุมัติอย่างถูกต้องจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

นายชาติชาย กล่าวต่อไปว่า การชำระค่าเบี้ยประกัน ธนาคารจะติดต่อกับบริษัทประกันผ่านระบบ Online เพื่อยื่นคำขอทำประกัน สำหรับค่าเบี้ยประกันเมื่อผู้กู้จ่ายค่าเบี้ยประกันให้บริษัทประกันเรียบร้อยแล้ว ผู้กู้จะได้รับใบรับชำระเงิน เพื่อเป็นหลักฐานในการชำระค่าเบี้ยประกัน หลังจากนั้นบริษัทประกัน จะส่งใบรับรองประกันภัย/ใบเสร็จรับเงิน ซึ่งสรุปสาระสำคัญของความคุ้มครอง และเอกสารเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ความคุ้มครอง และการเรียกร้องค่าสินไหม ให้ผู้กู้ตามที่อยู่ที่ได้แจ้งไว้ ซึ่งมีใบรับรองประกันฯ บางส่วนส่งกลับคืนมาที่บริษัท การที่ผู้กู้บางรายไม่ได้รับเอกสารดังกล่าวอาจเนื่องจากย้ายที่อยู่ หรือไม่มีผู้รับ เป็นต้น สำหรับกรมธรรม์ฉบับเต็ม บริษัทได้ส่งมอบให้ธนาคาร และสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. เนื่องจากเป็นการประกันแบบกลุ่ม หากผู้กู้ต้องการกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเต็ม สามารถติดต่อขอรับได้ที่บริษัท หรือ สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของบริษัทได้

ต่อมา ในปี 2553 สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ได้สำรวจความต้องการของสมาชิก และขอแก้ไขหลักเกณฑ์เงื่อนไขจากเดิม 600,000 บาท เป็น 1,200,000 บาท (โครงการ ช.พ.ค. 6) และกู้ในวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท ในปี 2554 (โครงการ ช.พ.ค. 7) โดยนำเงิน ช.พ.ค. และบุคคลมาค้ำประกัน หรือถ้าบุคคลค้ำประกันไม่พอ ก็สามารถนำประกันสินเชื่อหรือหาหลักทรัพย์อื่นมาค้ำประกันเพิ่มเติมได้ ดังนี้ วงเงินกู้ ไม่เกิน  600,000  บาท ผู้กู้ทำประกัน 1 คน ผู้กู้ไม่ทำประกัน 2 คน กู้เกินกว่า  600,000  บาท  แต่ไม่เกิน  1.2  ล้านบาท ผู้กู้ทำประกัน 2  คน ผู้กู้ไม่ทำประกัน 4  คน กู้เกินกว่า  1.2  ล้านบาท    แต่ไม่เกิน  1.8  ล้านบาท ผู้กู้ทำประกัน           3 คน ผู้กู้ไม่ทำประกัน 6  คน กู้เกินกว่า  1.8  ล้านบาท    แต่ไม่เกิน  2.4  ล้านบาทผู้กู้ทำประกัน 3 คน ผู้กู้ไม่ทำประกัน 8  คน  กู้เกินกว่า  2.4  ล้านบาท    แต่ไม่เกิน  3.0  ล้านบาท         ผู้กู้ทำประกัน 3  คน ผู้กู้ไม่ทำประกัน 10  คน

ทั้งนี้ ผู้กู้สามารถกู้ได้เพียงโครงการเดียว หากต้องการกู้เพิ่มต้องปิดโครงการเดิมก่อน กรณีที่ ผู้กู้ทำประกัน เมื่อผู้กู้ปิดบัญชีในโครงการเดิม และกู้ในโครงการใหม่ ผู้กู้ไม่ต้องเวนคืนกรมธรรม์เดิม แต่ให้ทำประกันเพิ่มเฉพาะวงเงิน ที่ขอกู้โครงการใหม่ หักด้วยจำนวนทุนประกันที่ทำไว้เดิม เช่น เดิมกู้โครงการ ช.พ.ค 5 วงเงินกู้ 600,000 บาท และผู้กู้ ทำประกัน ทุนประกัน 600,000 บาท (ค่าเบี้ยประกันประมาณ 30,000 กว่าบาท) ต่อมาปิดบัญชีและขอกู้โครงการ ช.พ.ค.6 วงเงินกู้ 1,200,000 บาท หากผู้กู้ประสงค์จะทำประกันภัย ทุนประกัน 1,200,000 บาท (ค่าเบี้ยประกันประมาณ 60,000 กว่าบาท) จะต้องทำทุนประกันเพิ่มเพียง 600,000 บาท และจ่ายค่าเบี้ยประกันเพียงประมาณ 30,000 กว่าบาท สำหรับการต่ออายุกรมธรรม์ จะต่ออายุเมื่อแต่ละกรมธรรม์ครบ 9 ปี ซึ่งจะครบกำหนดไม่พร้อมกัน ทั้งนี้ กรณีผู้กู้ปิดบัญชี และอายุกรมธรรม์ยังไม่ครบ 9 ปี ธนาคารจะจัดทำหนังสือแจ้งเวนคืนกรมธรรม์นำส่งให้บริษัทประกัน และบริษัทประกันจะคืนเงินให้ตามอัตราที่บริษัทกำหนด

อนึ่งการทำประกันเพื่อคุ้มครองสินเชื่อตามความสมัครใจ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้กู้ที่จำเป็นต้องกู้วงเงินสูง แต่ไม่สามารถหาหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกันได้ตามเงื่อนไข โดยที่ธนาคารไม่ได้บังคับ ปรากฏว่ามีผู้กู้เลือกทำประกันเพื่อประกันสินเชื่อคิดเป็นสัดส่วนถึง 85% ของจำนวนผู้กู้ทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมามีผู้กู้ในโครงการเสียชีวิตและได้รับค่าสินไหมจากบริษัทประกันทุกราย รวมทั้งสิ้น 24,740 ราย รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 12,642.98 ล้านบาท หักชำระหนี้ธนาคาร เป็นเงิน 2,558.62 ล้านบาท คืนเงิน ช.พ.ค. ที่นำมาชำระหนี้ 9,311.47 ล้านบาท และคืนทายาท 772.89 ล้านบาท (ทายาทได้รับเงินจากเงิน ช.พ.ค.และค่าสินไหมคืนทายาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 10,084.36 ล้านบาท)

สำหรับเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้แต่ละโครงการ ธนาคารได้กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์เงื่อนไขการให้สินเชื่อ และสัญญากู้เงิน ดังนี้ โครงการ                ระยะเวลาการให้กู้ ช.พ.ค. 2-3 ระยะเวลาการกู้ 5 ปี เมื่อสัญญากู้ครบกำหนด หากธนาคารยังไม่ได้รับชำระเงินกู้ จะทำการทบทวนหนี้ใหม่ทุกหนึ่งปี หากผู้กู้มีประวัติการชำระเงินกู้ดีติดต่อกันและ ไม่มีการบอกเลิกสัญญา หรือหากธนาคารพิจารณาให้สัญญามีผลบังคับใช้ต่อให้ถือว่าสัญญา มีผลบังคับใช้ต่อเนื่องปีต่อปีโดยไม่ต้องทำบันทึกต่ออายุสัญญากู้ ช.พ.ค. 4-6 ระยะเวลาการกู้ 10 ปี เมื่อสัญญากู้เงินครบกำหนด หากธนาคารยังได้รับชำระเงินกู้ ไม่ครบจะทำการทบทวนใหม่ทุก 1 ปี หากผู้กู้มีประวัติการชำระเงินกู้ดีติดต่อกันและไม่มีการบอกเลิกสัญญากู้เงิน หรือหากธนาคารพิจารณาให้สัญญากู้เงินมีผลบังคับใช้ต่อ ให้ถือว่าสัญญากู้เงินมีผลบังคับใช้ต่อเนื่องปีต่อปี โดยไม่ต้องทำบันทึกต่ออายุสัญญากู้เงิน ช.พ.ค. 7 (เกื้อกูลฯ)ระยะเวลาให้กู้ไม่เกิน 30 ปี เมื่อสัญญากู้ครบกำหนด หากธนาคารยังได้รับชำระเงินกู้ไม่ครบ จะทำการทบทวนใหม่ทุกปี หากผู้กู้มีประวัติการชำระเงินกู้ดี และไม่มีการบอกเลิกสัญญา หรือหากธนาคารพิจารณาให้ สัญญามีผลบังคับใช้ต่อ ให้ถือว่าสัญญามีผลบังคับใช้ต่อเนื่องปีต่อปี โดยไม่ต้องทำบันทึกต่ออายุสัญญากู้

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เมื่อคำนวณเงินงวดผ่อนชำระ 360 งวด (30 ปี) เช่นเดียวกับสินเชื่อเคหะ ที่มีเงินงวดผ่อนชำระต่ำ ทำให้สามารถกู้เงินในจำนวนที่สูงขึ้นได้ แล้วแต่ความจำเป็นของครู แต่ผู้กู้สามารถผ่อนชำระเงินกู้มากกว่าเงินงวดตามเงื่อนไขหรือนำเงินมาสมทบชำระหนี้ เพื่อให้ชำระหนี้หมดเร็วกว่าที่กำหนดไว้ ทำให้จ่ายดอกเบี้ยลดลง โดยกำหนดให้ชำระหนี้ภายในวันสุดท้ายของเดือน หากชำระหนี้ล่าช้าเกินกว่า 62 วัน ธนาคารจึงจะคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดไม่ชำระหนี้ในอัตราร้อยละเท่ากับอัตราดอกเบี้ยปกติบวกเพิ่มร้อยละ 2 ดังนั้น กรณีที่หน่วยงานนำส่งชำระหนี้ล่าช้า แต่ไม่เกิน 62 วัน ธนาคารไม่คิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัด และเมื่อธนาคารได้รับชำระหนี้แล้ว จะออกใบเสร็จรับชำระหนี้แบบกลุ่มหน่วยงานส่งให้สำนักงาน สกสค. หรือ หน่วยจ่ายเงินเดือน และจัดทำ statement ส่งให้ผู้กู้เป็นรายปีทุกปี กรณีที่มีผู้กู้ต้องการ statement ก่อนที่ธนาคารจัดส่งให้ ผู้กู้สามารถแจ้งความประสงค์ที่สาขา เพื่อนำส่งให้ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ได้

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments