เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 ที่ หอประชุมคุรุสภา ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการและประกาศนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เรื่อง พลิกโฉมโรงเรียนต้นแบบสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียนแบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps พร้อมมอบโล่และเกียรติบัตรให้แก่ครูและนักเรียนที่ร่วมประกวดนวัตกรรมดีเยี่ยม ดีเด่น ดีมาก ซึ่งภายในงานมีการจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู และนวัตกรรมนักเรียน จาก 26 โรงเรียนต้นแบบในพื้นที่ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร รวมกว่า 500 รายการ
โดย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวรายงานว่า การนำเสนอนวัตกรรมด้านการเรียนการสอน ที่เป็นผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนและครู ในวันนี้ เป็นผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการความร่วมมือ “พัฒนานวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมผู้เรียน” ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู เพื่อยกระดับคุณภาพทางการศึกษาที่ให้ความสำคัญในการเรียนการสอนรูปแบบ Active Learning รวมถึงการจัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความรู้ใหม่ และต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมผู้เรียนที่มีความหลากหลาย และเกิดประสิทธิผลในการจัดการเรียนการสอนเพิ่มมากยิ่งขึ้น
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ.ได้ดำเนินโครงการฯ ทดลองในโรงเรียนที่เป็นจังหวัดต้นแบบ เขตพื้นที่ภาคกลาง รวม 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สมุทรสาคร สุพรรณบุรี สระบุรี นครสวรรค์ และ อ่างทอง โดยมีโรงเรียนในสังกัด สพฐ.เข้าร่วม 29 โรงเรียน และโรงเรียนในเครือข่ายอีก 4 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 33 โรงเรียน ครอบคลุมโรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ได้ดำเนินการมากว่า 9 เดือน ปรากฏผลสำเร็จที่ส่งผลให้คุณครูสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ได้มากกว่า 1,500 นวัตกรรม
“ กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านบทบาทของครู จากการทำหน้าที่เป็นครูผู้สอน ที่เป็นการสื่อสารทางเดียว ให้ครูปรับตัว เปลี่ยนบทบาทเป็น Facilitator หรือผู้อำนวยความสะดวก ให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำการเรียนการสอนที่ยึดตัวผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และมีการออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสม แบบ Personalized Learning ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าเนื้อหาวิชา เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ หรือสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นในตนเองโดยกระบวนการคิดขั้นสูง มีการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งนวัตกรรมที่เป็นผลผลิตของโครงการ จะถูกนำไปใช้เป็นสื่อ และกิจกรรมการเรียนรู้ โดยจะมีการขยายผลสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มเติม เพื่อพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนครูและผู้เรียนให้เป็นนวัตกรทางการศึกษาและการจัดการเรียนรู้ได้เช่นนี้ เป็นความสำเร็จที่มีต่อการพัฒนาสมรรถนะครูและผู้เรียน ซึ่งจะเป็นพลังผลักดัน ส่งผลต่อเนื่องในการพลิกโฉมประเทศด้านการพัฒนาการศึกษาของชาติตามแนวคิด Thailand 4.0 ที่จะทำให้คนไทยมีการสร้างนวัตกรรมเป็นของตนเอง นำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศประเทศให้ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และเป็นการเตรียมความพร้อมประเทศ ให้สามารถก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ต่อไป ” นางสาวตรีนุช กล่าว
ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ กล่าวว่า เป้าหมายของการปฏิรูประเทศด้านการศึกษา คือ เราต้องการให้เด็กคิดเป็น มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีสุขภาพกายใจที่ดี มีจิตอาสา มีความพร้อมทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ หมายถึงความเป็นคนที่สมบูรณ์ ซึ่งถ้าสามารถทำให้สมบูรณ์ตั้งแต่วัยเรียนพร้อมกันทีละมาก ๆ จะขับเคลื่อนประเทศให้พ้นจากการเป็นประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ โดยการเรียนแบบActive Learning ซึ่งสามารถใช้ได้กับการเรียนการสอนทุกวิชาจะสามารถพลิกโฉมประเทศไปสู่การทำให้เด็กรู้จักคิด สร้างสรรค์ผลงานเป็นนวัตกรรม ซึ่งเท่าที่ดูผลงานของนักเรียนก็เห็นว่าเด็ก ๆ สามารถคิดค้นประดิษฐ์นวัตกรรมได้มากมาย เพียงแต่ยังไม่เป็นการพาณิชย์ แต่ก็สามารถแสดงให้เห็นว่าเด็กสามารถคิดนวัตกรรมออกมาได้โดยมีแรงบันดาลใจจากที่เรียนมาจากครู และจากตำราที่เรียน ซึ่งเมื่อมีผู้เข้ามาให้การสนับสนุนนวัตกรรมที่ได้ก็จะพัฒนาจนกลายเป็นประดิษฐกรรมและเป็นผลผลิตที่เกิดรายได้ได้
ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า Active Learning เป็นการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง ผ่านการคิด การประเมิน การนำความคิดไปสู่การวางแผนและลงมือทำ มีการตรวจสอบ ปรับปรุง แก้ไข จนเกิดผล ซึ่งการผ่านกระบวนการคิดและกระบวนการปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอนจะทำให้เด็กเกิดความเข้าใจในสิ่งที่ตนเองคิด และความเข้าใจนี้จะสัมพันธ์กับส่วนการเรียนรู้ของสมองในส่วนความจำระยะยาว เพราะสมองจะเรียนรู้เมื่อร่างกายมีการปฏิบัติจริง เป็นการเข้าใจที่ทำให้จำได้โดยไม่ต้องท่อง เพราะฉะนั้น Active Learning จะทำให้เด็กเข้าใจอย่างลึกซึ้งแตกฉานหลังจากที่ได้คิด ได้ทำเอง ได้แก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยการเรียนรู้แบบ Active Learningจะสามารถใช้ได้กับทุกวิชา เพราะฉะนั้นเด็กก็อาจจะเข้าใจกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบจากเรียนรู้ในวิชาที่ต่างกัน บางคนจะเข้าใจเมื่อเรียนวิชาศิลปะ บางคนเข้าใจในวิชาคณิตศาสตร์ บางคนเข้าใจจากวิชาการงานอาชีพ เป็นต้น เพราะเมื่อเด็กเข้าใจกระบวนการความคิดจะตกผลึกที่เขาแล้วเขาก็จะสามารถสร้างชิ้นงานได้ เมื่อไปเรียนวิชาอื่นก็จะมีความเข้าใจในกระบวนการคิดจะทำให้สามารถเรียนรู้ได้ไวและมีความเข้าใจมากขึ้น
ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.มีหน้าที่นำนโยบายสู่การปฏิบัติ ซึ่งเท่าที่ฟังนโยบายชัด ๆ คือ ต้องการให้ทุกโรงเรียนปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน และการวัดประเมินผลใหม่ โดยการปรับการเรียนการสอนจากPassive Learning เป็น Active Learning ก็เพื่อให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ซึ่งวิธีการปฏิบัติก็ให้ทำแบบปฏิรูป ไม่ใช่ปฏิวัติ คือ เปลี่ยนความคิดและวิธีการทำงานของครู แล้วนำการเปลี่ยนแปลงของครูไปออกแบบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับเด็ก ซึ่ง สพฐ.ได้ดำเนินการโดยร่วมกับมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาครูเพื่อให้ครูเข้าใจแล้วสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอน แล้วนำนวัตกรรมนั้นไปพัฒนาเด็กให้เป็นนวัตกร เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีแรงบันดาลใจและลงมือปฏิบัติ โดยครูต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้บอก ผู้สอน มาเป็นผู้กำกับการแสดง ช่วยอำนวยความสะดวกให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง คิดเอง ทำเอง ซึ่งจะเป็นทิศทางในการปรับเปลี่ยนประเทศ
รศ.ดร.นันทิยา น้อยจันทร์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า จากความร่วมมือ โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นการคิดค้นโดยผ่านกระบวนการคิดขั้นสูง GPAS 5 Steps เป็นความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กับ สพฐ. ทำให้เห็นว่า การจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 เด็กได้ลงมือปฏิบัติ ได้คิดเองจากกระบวนการกลุ่ม จากการติดต่อสื่อสาร ทำให้เกิดการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ เกิดความรู้ความเข้าใจจนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ จะเห็นว่าโครงการนี้ทำให้ Active Learning มีตัวตนชัดเจน เกิดขึ้นได้จริง มีขั้นตอนกระบวนการ และสอดคล้องกับยุคข้อมูลข่าวสารที่มากขึ้น และครูก็ให้ความสนใจ เราให้ความรู้คุณครู คุณครูนำไปใช้จัดการเรียนการสอน เด็กก็สร้างนวัตกรรมย้อนกลับมา ทำให้เห็นผลจากนวัตกรรมของคุณครู และนวัตกรรมของนักเรียน