เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ที่ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเฉลิมฉลอง “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2565 โดย น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ตามที่ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศให้วันที่ 8 กันยายน ของทุกปี เป็น “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” (International Literacy Day: ILD) ตามมติข้อเสนอจากเวทีการประชุมรัฐมนตรีศึกษาโลก เรื่อง “การขจัดการไม่รู้หนังสือ” ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน (สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านในปัจจุบัน) ระหว่างวันที่ 8–19 กันยายน พ.ศ. 2508 และได้เชิญชวนให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกร่วมกันเฉลิมฉลองเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2509 เพื่อให้สังคมโลกตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการรู้หนังสือ และประเด็นปัญหาต่าง ๆ ทั่วโลกเกี่ยวกับการไม่รู้หนังสือ ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกยูเนสโก โดยกองการศึกษาผู้ใหญ่ กรมสามัญศึกษา กระทรวง ศึกษาธิการในขณะนั้น ได้ร่วมจัดกิจกรรมและพิธีเฉลิมฉลองงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2510 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สำหรับปี 2565  นี้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ สำนักงาน กศน. ได้จัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิดหลัก “ การพลิกโฉมพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือ ”(Transforming Literacy Learning Spaces)  และถือเป็นโอกาสอันดีของยูเนสโกในการแก้ปัญหาการไม่รู้หนังสือ จากการพัฒนารูปแบบและวิธีการเรียนรู้อย่างหลากหลายของผู้คนทั่วโลกในห้วงวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 เพื่อให้การเรียนรู้สามารถดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทุกประเทศทั่วโลกจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนจากการเรียนการสอนแบบเดิมเป็นการเรียนการสอนแบบทางไกล ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้ของผู้เรียนบางกลุ่มในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของ “ช่องว่างทางดิจิทัล” ด้วยเหตุนี้ ยูเนสโกจึงมุ่งมั่นและพยายามอย่างที่สุดที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No one left behind) จึงเห็นควรต้องเร่งต่อยอดนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด 19 เพื่อช่วยผลักดันให้เกิดการเรียนรู้อย่างทั่วถึงในทุกกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนต้องมีการพลิกโฉมพื้นที่ทุกพื้นที่ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือที่หลากหลายสำหรับผู้เรียนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ทุกพื้นที่ และทุกเวลา โดยมีการปรับใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในทุกพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเข้าถึงการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกกลุ่มในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ขาดความเจริญทางด้านเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ทั่วถึง และและเสมอภาคอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต รัฐบาลทุกประเทศจึงต้องมีการพัฒนานโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการต่าง ๆ ที่สนับสนุนและเอื้อต่อการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรมในทุกพื้นที่ ภายใต้แนวคิดหลักของวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือในปีนี้ คือ “การพลิกโฉมพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือ” (Transforming Literacy Learning Spaces)

รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า  รัฐบาลให้ความสำคัญกับการรู้หนังสือของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา ศธ.ได้ทำงานร่วมกับยูเนสโกมาโดยตลอดเพื่อให้คนรู้หนังสือ แต่ก็ต้องยอมรับว่า โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก การเรียนรู้มีหลากหลายช่องทาง ซึ่งตนได้เน้นย้ำเรื่องการใช้ดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือช่วยในเรื่องการเรียนรู้ด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องเน้นย้ำเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อและการเลือกใช้สื่อที่เหมาะสมด้วย สำหรับ กศน.ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในเรื่องการขจัดการไม่รู้หนังสือ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส และเติมเต็มให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้สูงวัย รวมถึงคนที่หลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นและเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ทุกพื้นที่ นอกจากจะเป็นการตอบโจทย์การดูแลประชาชนทุกกลุ่มแล้วยังเป็นการสร้างโอกาสให้คนทุกกลุ่มทุกช่วงวัยด้วย

ผู้สื่อข่าวถามถึงตัวเลขผู้รู้หนังสือทั่วโลกเพิ่มขึ้นมาก แต่ก็ยังมีที่ไม่รู้หนังสืออยู่ไม่น้อย โดยในจำนวนนั้นส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงและเด็ก  น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการโดยทุกองค์กรหลักพยายามเร่งเรื่องการอ่านออกเขียนได้เพิ่มขึ้นในประชากรทุกกลุ่ม และโดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะการเรียนรู้ถดถอย ทำให้ต้องเร่งแก้ไขปัญหาซึ่งการอ่านออกเขียนได้ก็เป็นจุดเน้นที่สำคัญที่ต้องดูแลเช่นกัน

ด้าน นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการ กศน.  กล่าวว่า วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือในปีนี้ ได้มีการเฉลิมฉลองทั่วโลกภายใต้หัวข้อ “Transforming Literacy Learning Spaces: การพลิกโฉมพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือ”และจะเป็นโอกาสในการทบทวนความสำคัญพื้นฐานของพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือเพื่อเป็นการสร้างความยืดหยุ่นและเป็นการรับประกันการศึกษาที่มีคุณภาพเสมอภาคและครอบคลุมสำหรับทุกคนและทุกพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1.สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้พื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือที่หลากหลายเป็นศูนย์กลางสำหรับความต้องการของเยาวชนและผู้ใหญ่ โดยใช้ความรู้และหลักฐานใหม่ ๆ ที่สอดสัมพันธ์กับนโยบาย ระบบการบริหารจัดการ โครงการ แนวปฏิบัติด้านการเรียนการสอน และการติดตามพื้นที่การเรียนรู้ 2.ใช้ความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ในการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือและจัดเวทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต 3.ปรับใช้สิ่งที่มีอยู่และการเปลี่ยนแปลงพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจในด้านคุณภาพ ความเท่าเทียม และการศึกษาสำหรับทุกคนเพื่อปวงชน 4.เชื่อมโยงเส้นทางการเรียนรู้ระหว่างการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย และบันทึกผลการเรียนรู้ เพื่อการรู้หนังสือที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่อยู่นอกแผน

ทั้งนี้ในพิธีการเฉลิมฉลองงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2565  มีการอ่านสารของ Ms Audrey Azoulay Director-General of UNESCO  โดย นายชิเกรุ อาโอนากิ ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก ด้านการศึกษา ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และ การอ่านสารของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments