เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมสภาการศึกษา ว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการสภาการศึกษา(กกส.) จำนวน 28 คน เพื่อทดแทนกรรมการ กกส.ชุดเดิมที่หมดวาระไปแล้ว วันนี้เป็นการประชุมนัดแรกของ กกส.ชุดนี้ ที่มาจากตัวแทนทุกภาคส่วน ทุกศาสนา ซึ่งทุกคนเต็มใจที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาการศึกษา
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สภาการศึกษา(สกศ.)ได้ดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์บ้างแล้ว เช่น รายงานผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยWorld Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2565 ที่พบว่า อันดับ IMD การศึกษาของประเทศไทย ขยับมาอยู่ที่อันดับ 53 จากอันดับที่ 56 ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 3 อันดับ และเป็นอันดับดีที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เรามีแรงขับเคลื่อนที่จะเดินหน้าการศึกษาต่อไป
ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมวันนี้ตนได้มอบนโยบายให้ เลขาธิการสกศ. ว่า ควรจะเพิ่มคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา จากเดิมที่มีอยู่ 7 คณะ เป็น 9 คณะประกอบด้วย 1.ด้านอำนวยการและประชาสัมพันธ์ 2.ด้านนโยบายและแผนการศึกษา3.ด้านการประเมินผลการจัดการศึกษา 4.ด้านกฎหมาย 5.ด้านมาตรฐานการศึกษา6.ด้านเครือข่ายการมีส่วนร่วม 7.ด้านการวิจัย เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมด้านการศึกษา 8.ด้านคุณธรรมจริยธรรม จิตอาสาและสำนึกสาธารณะ และ 9.ด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต การศึกษาพิเศษ เพื่อให้ครอบคลุมการศึกษาทุกด้าน คาดว่าในการประชุมกกส. เดือนกันยายนนี้ จะมีแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ครบทั้ง 9 ชุด ทั้งนี้การตั้งคณะอนุกรรมการ จะมีตัวแทนจากภาครัฐ และเอกชน มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาร่วมด้วย มาดำเนินการขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศในแต่ละด้าน ซึ่งที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการฯ จะเป็นการทำงานในลักษณะของจิตอาสา ทุกคนมาทำงานด้วยใจ แต่การจะให้คณะอนุกรรมการทำงานด้วยความเสียสละอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะเราหวังผลในการพัฒนาการศึกษา จึงมอบหมายให้ สกศ.ไปศึกษาระเบียบ เพื่อหางบประมาณสนับสนุนการขับเคลื่อนงานของคณะอนุกรรมการฯ ด้วย เพื่อให้การขับเคลื่อนงานเป็นไปอย่างมีพลัง และสมบูรณ์แบบเพิ่มมากขึ้น
“ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายว่า กกส. เป็นคณะกรรมการที่มีความสำคัญเพราะเป็นผู้กำหนดทิศทาง กำหนดเป้าหมายการศึกษาของประเทศ แต่คนยังไม่รู้จัก ดังนั้น ต่อไปหากมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา ก็ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ว่าคณะอนุกรรมการฯทุกคณะมีใครบ้าง และได้ทำงานอย่างไรบ้าง เพราะการศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งในโลก VUCA World คือยุคของการเปลี่ยนแปลงที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน มีความสลับซับซ้อน ไม่รู้จะไปในทิศทางไหน ดังนั้น เราจะต้องเตรียมความพร้อมและสร้างภูมิคุ้มกันให้ทุกคน เพื่อให้คนในประเทศมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถแข่งขันได้” รมช.ศึกษาธิการกล่าว
ด้าน ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการ สกศ. กล่าวว่า สกศ.ได้รายงานผลการดำเนินการของ สกศ.ในปีที่ผ่านมา มีผลงานดีเด่น เช่น การเชิญผู้แทนด้านการศึกษาจากแต่ละประเทศ ผู้แทนผลการค้าของสภาอตุสาหกรรมประเภทต่างๆ มารับฟังความคิดเห็นในการผลิตและพัฒนากำลังคน เพื่อที่จะพัฒนาคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน หรือรายงานการขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติ ตามมติครม. ซึ่งที่ผ่านมา สกศ.ได้ดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน
“ต่อไป สกศ.จะไปดูระเบียบเกี่ยวงบดำเนินงานเพิ่มเติม เพื่อนำมาสนับสนุนคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 9 คณะ มีแนวทางและขับเคลื่อนงานคล่องตัวมากขึ้น นอกจากจะสนับสนุนงบประมาณแล้ว สกศ.จะทำหน้าที่เสมือนกับเลขานุการ ที่จะสนับสนุน ประสานงานรวบรวม และผลักดัน ในเกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ต่อไปคณะอนุกรรมการฯด้านต่างๆ จะไปวิเคราะห์ว่าการศึกษาของประเทศมาถูกทางหรือไม่ พร้อมกับหาแนวทางการพัฒนาการศึกษา แนวทางการผลิตและพัฒนากำลังคน เสนอให้คณะกรรมการ กกส.มาพิจารณาเพื่อหาวางแนวทางแก้ไขปัญหาการศึกษา เพื่อเสนอให้ศธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการจัดการศึกษาให้สอดคล้อง และสร้างผู้เรียนให้มีคุณภาพต่อไป”นายอรรถพล กล่าว