เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานปฐมนิเทศนักศึกษาโครงการความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนทวิภาคี ระดับ ปวส. สาขาวิชาพืชศาสตร์ ไทย – อิสราเอล ประจำปี 2565 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ โดย ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ รู้สึกยินดีกับนักศึกษาทุกคนที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนทวิภาคี ระดับ ปวส. สาขาวิชาพืชศาสตร์ ไทย – อิสราเอล ประจำปี 2565 โดยอิสราเอลซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมด้านการเกษตรอย่างยิ่ง การพัฒนาภาคการเกษตรของอิสราเอลจัดว่าเป็นการพัฒนาที่เกิดจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ นักวิทยาศาสตร์ เกษตรกร ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรที่เกี่ยวข้อง จนนำมาซึ่งเทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นระบบการชลประทานที่มีประสิทธิภาพ การย่อยสลายแบบไร้อากาศ ระบบการปลูกพืชในเรือนกระจก รวมทั้งการวิจัยการเกษตรในทะเลทราย และการกำจัดเกลือ เป็นต้น
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงศึกษาธิการจะผลักดันการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาสาขาเกษตรกรรม ให้มีความทันสมัย มีเทคโนโลยี เข้ามาช่วยสนับสนุนด้านเกษตร การส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมด้านการเกษตร ที่ต้องไม่อยู่แค่ในวงการการศึกษา แต่ต้องขยับออกไปสู่วงการอุตสาหกรรมในระดับกว้าง โครงการความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนทวิภาคี ระดับ ปวส. สาขาวิชาพืชศาสตร์ ไทย – อิสราเอล จึงถือเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษาโดยการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ที่จำเป็นต่อสาขาเกษตรกรรม กระทรวงศึกษาธิการ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) สถาบันการอาชีวศึกษา และสถานศึกษา จะร่วมกันผลักดันการเกษตรของไทยให้ประสบความสำเร็จ และเป็นสาขาวิชาแถวหน้าของประเทศไทยต่อไป
“นับจากวันนี้ถือได้ว่าเป็นโอกาสอันดีที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง การได้เรียนรู้ถึงกระบวนการคิดค้นนวัตกรรมในการเกษตร การได้เรียนรู้การเป็นมืออาชีพที่ประสบความสำเร็จด้านเกษตรกรรม ผ่านการเรียนรู้แบบ Learning by doing ตลอดระยะเวลา 10 เดือนนับจากนี้จะเป็นเวลาที่คุ้มค่ามากที่สุด ขอให้นักศึกษาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์และนำความรู้ที่ได้รับกลับมาพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศ ช่วยกันยกระดับผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และประกอบธุรกิจด้านเกษตรอย่างภาคภูมิ ตลอดจนขอให้นำความรู้ที่ได้รับกลับมาเผยแพร่สู่รุ่นน้อง และเกษตรกรในพื้นที่ต่อไป และขอนักศึกษาทุกคนเดินทางโดยสวัสดิภาพ ดูแลสุขภาพตนเองให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ อดทน อดกลั้น รักษาคุณธรรมจริยธรรมให้มีประจำตัว กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมเป็นกำลังใจและให้คำแนะปรึกษากับนักศึกษาทุกคน” ดร.คุณหญิงกัลยากล่าว
ด้าน นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) กล่าวว่า สอศ.ได้มีความร่วมมือกับ ศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติด้านการเกษตรในเขตอราวา (AICAT) รัฐอิสราเอล เพื่อดำเนินงานความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนทวิภาคี สาขาวิชา พืชศาสตร์ ไทย – อิสราเอล ตั้งแต่ปี 2543 ถึงปัจจุบัน และมีสถานศึกษาที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์การเตรียมความพร้อมให้แก่นักเรียน นักศึกษา ก่อนการเข้าร่วมโครงการจำนวน 3 ศูนย์ ได้แก่ 1) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด 2) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม และ 3) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ โดยในปัจจุบันได้ส่งนักเรียน นักศึกษาเข้าร่วมโครงการแล้ว 23 รุ่น รวม 2,462 คน ในปี 2565 นี้ นับเป็นรุ่นที่ 24 มีนักศึกษาจากสอศ.เข้าร่วมโครงการ 70 คน และนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ 15 คน รวมทั้งสิ้น 85 คน มีกำหนดเดินทางเข้าร่วมโครงการ ณ ศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติด้านการเกษตร ในเขตอราวา รัฐอิสราเอล ในวันที่ 16 สิงหาคม 2565 และเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 สอศ.ได้รับการประสานงานจาก ศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติ ด้านการเกษตรในเขตอราวา ในการเพิ่มโควตาให้นักศึกษาในสังกัด สอศ. จำนวน 12 คน และนักศึกษามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จำนวน 3 คน รวม 15 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ในขั้นตอนการขออนุมัติและเตรียมการเดินทาง และคาดว่าจะเดินทางเข้าร่วมโครงการได้ในเดือนกันยายน 2565
สำหรับการดำเนินงานโครงการความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนทวิภาคี ระดับ ปวส. สาขาวิชาพืชศาสตร์ ไทย – อิสราเอล เป็นโครงการ 1 ใน 3 โครงการที่ดำเนินการโดยศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติ ด้านการเกษตรในเขตอราวา ซึ่งได้แก่
1) โครงการระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (Diploma program) นักศึกษาจะได้เรียนรู้การเป็นมืออาชีพที่ประสบความสำเร็จด้านเกษตรกรรม ผ่านการเรียนรู้แบบ Learning by doing ที่สานักงานคณะกรรมการการศึกษาดาเนินงานร่วมกับ AICAT อยู่ในปัจจุบัน 2) โครงการระดับปริญญาโทวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (MSc program) สาขาพืชศาสตร์ ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทลอาวิฟ(Tel-Aviv University) และ 3) โครงการวิชาชีพระยะสั้นด้านเกษตรกรรม การพัฒนาชนบท และการพัฒนานวัตกรรม (Advanced Agricultural Studies) โดยการจัดการเรียนการสอนภายใต้โครงการ ประกอบด้วย 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 เรียนและเตรียมความพร้อม ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ เป็นเวลา 6 เดือน ในภาคเรียนพิเศษที่ 1, 2 ช่วงที่ 2 เดินทางไปเรียนและฝึกปฏิบัติงานด้านการเกษตร ณ เขต อราวา ประเทศอิสราเอล เป็นเวลา 10 เดือน และช่วงที่ 3 กลับมาเรียนและทำโครงการเกษตรในภาคเรียนที่ 4 ณ วิทยาลัยเกษตรทั้ง 3 แห่งเป็นเวลา 6 เดือน