เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม2565 ที่อาคารหอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการแถลงข่าวก้าวสู่ปีที่ 4 ครูกัลยา “วางรากฐานการศึกษาไทย สมรรถนะไกลสู่สากล” ว่า รู้สึกปลาบปลื้มยินดีที่ได้เห็นครู อาจารย์ และนักเรียนร่วมมือกันนำผลผลิตในสถาบันออกมาทำให้เป็นผลิตภัณฑ์ ตนได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้กำกับดูแล ศธ. ทำให้ตนมีโอกาสสังเกต เห็นและเรียนรู้ การทำงานของคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เห็นความตั้งใจจริงในการทำงานตามได้รับมอบหมายได้อย่างดี 3 ปีนี้ คุณหญิงกัลยา ได้ทำหลายอย่าง สิ่งเหล่านี้คือสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งการปฏิรูปการศึกษาไม่ได้ทำแต่เรื่อง ครู นักเรียนและหลักสูตร แต่ต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เข้าและเหมาะสมกัน ดังนั้น การผลักดันโค้ดดิ้ง การเรียนอาชีวะเกษตร การจัดการศึกษาพิเศษ ล้วนแต่เป็นการทำสภาพแวดล้อมของการศึกษาให้เหมาะสม ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อนไปยังเป้าหมายที่เราต้องการที่สุดคือ การปฏิรูปการศึกษา
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญและสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา โดยพูดเสมอว่า นโยบายโค้ดดิ้งมีความสำคัญต่อเยาวชนเป็นอย่างมาก จำเป็นต้องเริ่มเรียนตั้งแต่เด็ก เพื่อให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์เป็น สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันทั้งการเรียนและการทำงานในอนาคต เพราะปัจจุบันโค้ดดิ้งเป็นเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน และถ้าเราไม่วางรากฐานโค้ดดิ้งไว้ในการศึกษาไทย สมรรถนะของเราจะไม่มีวันก้าวสู่อนาคตได้
ด้าน คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า ก้าวสู่ปีที่ 4 ของการทำงาน ตนมีเป้าหมายในการวางรากฐานการศึกษาไทย ให้มีมาตรฐานสมรรถนะไกล ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มี 5 นโยบายสำคัญที่ต้องเร่งผลักดัน เพื่อปฏิรูปการศึกษาในศตวรรษที่ 21 คือ 1. โค้ดดิ้ง ที่ถือเป็นวาระแห่งซาติ ในการวางรากฐานการปฏิรูปโดยตรงถึงเยาวชนและการพัฒนามนุษย์ 2.การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ในกระบวนการการเรียนการสอน ทั้งนี้นอกเหนือจากให้เด็กเก่งทางด้านวิชาการแล้วยังต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Art of Life และ Art of Living คือการที่ต้องมีทั้งศิลปะในการใช้ชีวิตและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม 3.การอ่านเขียนเรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสี่อร่วมสมัย โดยปรับเปลี่ยนวิธีการสอนและกระบวนการเรียนการสอนผ่านนวัตกรรมและสื่อการสอนที่ทันสมัย รวมทั้งจัดทำคลังข้อมูลดิจิทัลเพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับครู 4.อาชีวะเกษตรและประมง โดยยกระดับอาชีวะศึกษาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งระบบ พัฒนาสถานศึกษาให้เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีเกษตร พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรให้กับเยาวชนและชุมชน รวมถึงได้กำหนดแนวทางในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพื่อปลูกฝังให้เด็กนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาเห็นคุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญ โดยเฉพาะโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำ และความยากจนอย่างยั่งยืน และ 5.นโยบายการศึกษาพิเศษ รวมทั้งเด็กพิการ และเด็กด้อยโอกาสสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างเท่าเทียม