เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) ที่มีน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน เมื่อเร็วๆนี้ น.ส.ตรีนุช ได้ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ไปรวบรวมปัญหา ข้อเสนอแนะที่ภาคเอกชนเสนอความคิดเห็นเข้ามา เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาการเรียนการสอนอาชีวศึกษา เช่น เสนอให้มีการจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคีที่ยืดหยุ่น มีหลักสูตรที่ยืดหยุ่นให้ผู้เรียนอาชีวศึกษาสามารถเรียนจนจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ได้ภายใน 4 ปี โดยที่วิชาการและกิจกรรมไม่ลดลง ซึ่งเด็กจะมีอายุ 18 ปี สามารถทำงานในสถานประกอบการได้ แต่ขณะนี้เมื่อเด็กเรียนจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จะมีอายุ 17 ปี ซึ่งไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากอายุไม่ถึงติดกฎหมายแรงงาน หรือ ปรับหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่น การขับเคลื่อนการเรียนการสอนในระบบทวิภาคีไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จากปัจจุบันที่จัดอยู่ประมาณ 15 % การรีแบรนด์เพื่อแก้ปัญหาทะเลาะวิวาท หรือสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้เด็กสนใจมาเรียนอาชีวะมากขึ้น เป็นต้น

เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อไปว่า ในวันนี้มีการประชุมผู้บริหาร สอศ. ซึ่งแต่ละสำนักได้มาหารือและวางแผนจัดทำข้อเสนอในการพัฒนาอาชีวศึกษา เพื่อเสนอให้รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาในวันที่ 11 สิงหาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของเอกชนบางข้อ สอศ.ได้ดำเนินการมาบ้างแล้ว เช่น ผลักดันให้ผู้เรียนอาชีวศึกษาเรียนจบ ปวส.ภายใน 4 ปี  โดยตนมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายไปศึกษารายละเอียดว่าควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อนำเสนอให้รมว.ศึกษาธิการพิจารณา ส่วนการปรับหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่นนั้น มีช่องให้สถานศึกษาปรับหลักสูตรได้ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ การปรับหลักสูตรเป็นรายวิชา การปรับหลักสูตรระดับสถานศึกษา และการปรับหลักสูตรทั้งหมด ซึ่งการปรับหลักสูตรจะมีการมอบอำนาจให้แต่ละส่วนที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการได้ เช่น การปรับหลักสูตรเป็นรายวิชา ผู้อำนวยการสถานศึกษามีอำนาจในการอนุมัติปรับเพิ่มหรือลดหลักสูตรได้ การปรับหลักสูตรระดับสถานศึกษา สถานศึกษาสามารถทำได้ โดยตั้งคณะกรรมการร่วมกับสถานประกอบการในพื้นที่เข้ามาหารือเพื่อปรับหลักสูตรร่วมกัน และการปรับหลักสูตรทั้งหมดจะต้องให้ส่วนกลาง คือ สอศ.ดำเนินการเอง ดังนั้นในการปรับหลักสูตรถ้าเป็นการเพิ่มหรือลดหลักสูตรบางรายวิชา การเพิ่มทักษะผู้เรียน สถานศึกษาสามารถดำเนินการเองได้ ซึ่งต่อไป สอศ.จะทำหนังสือชี้แจงและย้ำไปยังสถานศึกษาอีกครั้ง

“เราต้องวางแผนผลักดันการเรียนระบบทวิภาคี สร้างภาพลักษณ์ใหม่ และทำความร่วมมือกับสถานประกอบการชั้นนำให้มากขึ้น เพื่อที่จะผลิตและพัฒนาคนให้ตรงกับอุตสาหกรรมใหม่ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน นอกจากนี้ ผมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปรับระเบียบใหม่ เพื่อดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ของสถานศึกษา เช่น ในพื้นที่ของวิทยาลัยเกษตร วิทยาลัยเทคนิค เป็นต้น เพราะมีบางสาขาที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่สูง แต่ทางวิทยาลัยไม่สามารถลงทุนเองได้ การดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนทางการศึกษาจะช่วยทำให้วิน-วิน ทั้ง 2 ฝ่าย เพราะเด็กได้ฝึกใช้เครื่องมือจริง และสถานประกอบการได้คนที่มีทักษะตรงกับความต้องการ ”ดร.สุเทพ กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments