เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) ศึกษาดูงานการจัดการเรียนการสอนของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ตามคำเชิญของ รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาและประธานคณะทำงานการจัดการประชุมโต๊ะกลมไทย-รัสเซีย โดยมี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล) ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา (ดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ (นายปานเทพ ลาภเกษร) และข้าราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา สำนักพระราชวัง สนามเสือป่า
ดร.อรรถพล กล่าวว่า การศึกษาดูงานในครั้งนี้เป็นการร่วมคิดร่วมแชร์แนวทางพัฒนากำลังคนคุณภาพสู่การมีงานทำ โดยเฉพาะสายอาชีวศึกษาที่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดามีความพร้อมด้าน ห้องปฏิบัติการ การบูรณาการกับผู้ประกอบการ อีกทั้งยังมีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่หลากหลาย อาทิ ด้านอุตสาหกรรม คหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมบันเทิงและดนตรี ถือเป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) สอดคล้องกับทิศทางของ สกศ. ที่สนับสนุนการเรียนในสาขาวิชาที่ไม่ยึดติดกับอาชีพในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ส่งเสริมการเติมทักษะให้อาชีพอิสระที่หลากหลาย และเรียนรู้การมี Soft Skill หรือทักษะเชิงสังคมที่จะช่วยให้องค์กรพร้อมรับมือในโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ (VUCA World) ได้เป็นอย่างดี
รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา กล่าวว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีแนวคิดว่า เด็กนักเรียนจำนวนมากชอบเรียนด้านการปฏิบัติงานมากกว่าสายวิชาการ พระองค์จึงทรงให้ก่อตั้งโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ได้ควบรวมโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพเข้ากับวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา ดำเนินการสอนโดยยึดมั่นตามแนวพระราโชบายที่ทรงเน้นให้สอนภาคปฏิบัติและฝึกงานจริงในสถานประกอบการ ตามคำขวัญว่า “เรียนคู่งาน งานคู่เรียน” โดยผู้ที่ทำงานแล้วก็สามารถกลับมาเรียนในหลักสูตรระยะสั้นหรือหลักสูตรการเพิ่มทักษะใหม่ได้ เป็นแนวทางการเรียนรู้เพื่อการมีงานทำและเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ซึ่งอาจเป็นประเด็นหนึ่งในการทำวิจัยร่วมกันกับทาง สกศ. ในโอกาสถัดไป
สำหรับสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา เปิดสอนในระดับปริญญาตรี ประกอบด้วยคณะเทคโนโลยีดิจิทัล คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และคณะบริหารธุรกิจ รวมถึงเปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หลักสูตร ปวช. มี 10 สาขาวิชา และหลักสูตร ปวส. มี 12 สาขาวิชา อีกทั้งมีสาขาวิชาใหม่ที่น่าสนใจและเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 3 หลักสูตร ได้แก่ 1. สาขาวิชาการสร้างเครื่องดนตรีไทย 2. สาขาวิชาเทคโนโลยีระบบสมองกลฝังตัว และ 3. สาขาวิชาเกษตรนวัตกรรมที่จะช่วยสร้าง Smart Farmer โดยผู้เรียนจะได้ฝึกทำโครงงานจากโจทย์ที่สถานประกอบการกำหนดให้ เพื่อให้ได้ทักษะวิชาที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงเมื่อประกอบอาชีพ