เมื่อวันที่ 20 ก.ย.กรมวิทยาศาสตร์บริการ(วศ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.)ได้จัดแถลงข่าวความคืบความร่วมมือโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เซรามิกเพื่อการส่งออกของผู้ประกอบการกลุ่มจังหวัดภาคกลาง ระหว่าง วศ.กับ คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(มจพ.) 

โดย น.ส.อุราวรรณ อุ่นแก้ว รองอธิบดี วศ. กล่าวว่า วศ.ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ มจพ.มาตั้งแต่ปี 2559 โดยมีวัตถุประสงค์จะพัฒนาในเรื่องของรูปแบบของผลิตภัณฑ์เซรามิก ของผู้ประกอบการ SME และวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้รูปแบบเป็นที่ต้องการของลูกค้า ขยายช่องทางการตลาด และที่สำคัญคือเพื่อการส่งออก ของกลุ่มภาคกลางลงมาที่จังหวัดราชบุรี และ จังหวัดสมุทรสาคร โดยจังหวัดราชบุรีมีโรงงานร่วมโครงการ 8 โรงงาน จังหวัดสมุทรสาคร 12 โรงงาน

“จากการติดตามโครงการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560-2561 มีผู้ประกอบการรายไหนที่มีมีความคิดริเริม เราก็จะผลักดันให้เดินหน้าต่อไป ซึ่งก็จะเห็นถึงการพัฒนาของผู้ประกอบการ เราไม่ได้หาปลาให้กับผู้ประกอบการ แต่เราจะสอนวิธีการ ให้ผู้ประกอบการมีความยั่งยืน ในเรื่องของแนวคิด การออกแบบ อย่างต่อเนื่อง ถ้าหากจบโครงการแล้ว วศ.ถอยออกมาผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการของเราก็จะต้องมีแนวคิดและมีการพัฒนารูปแบบได้ เพราะขณะนี้ประเทศไทยเรากำลังจะก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ดังนั้นรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับลูกค้าและสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนไทยในปัจจุบันด้วย”รองอธิบดี วศ.กล่าว

นายสุรสิทธิ์ แสงสุริยะ รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ มจพ.กล่าวว่า จริง ๆ แล้วโครงการนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างผู้ประกอบการกับมจพ.ในด้านความคิดสร้างสรรค์และรูปแบบ ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการทำดีอยู่แล้ว มจพ.เป็นเพียงเข้าไปเติมและแชร์กันว่าทำอย่างไรผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการจะเพิ่มมูลค่า และจากการลงพื้นที่ของอาจารย์และลูกศิษย์คณะสถาปัตยกรรมจะเห็นได้ว่า มจพ.ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป เพื่อให้ผลิตภัณฑ์การออกแบบมีความโดดเด่นเป็นที่ต้องการของตลาด และเป็นที่ถูกใจ นั่นคือจุดประสงค์ของโครงการ และเป็นสิ่งที่คณะอาจารย์สถาปัตยกรรมและการออกแบบตั้งใจที่จะใส่ไอเดียและความคิดสร้างสรรค์เข้าไปก็ถือว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะเห็นได้ว่ารูปแบบต่างๆมีหลากหลายและมีการประยุกต์ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนซึ่งปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่อาศัยในคอนโดมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่ใหญ่ ๆ อาจไม่ใช่เป็นสิ่งที่ต้องการ ก็ต้องมีการย่อขนาดและใช้ลวดลายที่เหมาะสมและสามารถหยิบจับเอาไปใช้งานได้จริง ๆ ซึ่งถือว่าในโครงการประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งเอาไว้

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments