เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศึกษาธิการ) กล่าวถึงกรณี นักวิชาการด้านการศึกษา ออกมาวิจารณ์คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวตามความจำเป็นพื้นฐานเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้เรียนและเพิ่มศักยภาพสถานศึกษาในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทั้งสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ครอบคลุมการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาทางเลือก โดยปรับเพิ่มแบบขั้นบันไดต่อเนื่อง 4 ปีงบประมาณ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566-2569 เป็นการหาเสียงทางการเมืองนั้น ว่า ตนมองว่าเรื่องนี้เป็นวาทะกรรมทางการเมืองที่พูดกัน ไม่อยากให้มองเรื่องของการศึกษาเป็นเรื่องของการเมือง ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนการศึกษาจำนวนมาก เช่น การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางการศึกษา ช่วยเหลือกลุ่มเด็กเปราะบางให้ได้รับการศึกษา และในปี 2564 ครม. มีมติเห็นชอบให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโร 2019 หรือโควิด-19 ของโรงเรียนในสังกัด ศธ.และสังกัดอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ และไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ รวมถึงสถานศึกษานอกสังกัด ศธ.ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชั้นอนุบาล-ม.6 และอาชีวศึกษา ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน เป็นต้น
“ดิฉันยืนยันว่าการเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวของนักเรียนครั้งนี้ ไม่ใช่การหาเสียง เพราะในปีนี้ เราเห็นชัดเจนว่าค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลจะนิ่งเฉยไม่ได้ เพราะจะส่งผลกระทบต่อการศึกษาแน่นอน ต้องเร่งขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน เพื่อที่จะส่งความช่วยเหลือไปถึงโรงเรียนและผู้ปกครองโดยตรง ดิฉันไม่อยากให้มองเป็นประเด็นอื่น อยากให้มองว่าเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนทุกคน” น.ส.ตรีนุช กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตุว่าทำไมถึงเร่งผลักดันในช่วงที่รัฐบาลใกล้หมดวาระ น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้เพิ่งผลักดัน เพราะสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้วิจัยมาต่อเนื่อง 2 ปี โดย สกศ.ได้ปรับอัตราเงินอุดหนุนให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการหาเสียงทางการเมือง เนื่องจากเงินอุดหนุนเดิมเราใช้มากว่า 10 ปีแล้ว ตั้งแต่น้ำมันลิตรละ 10 บาท ข้าวสารถังละ 80 บาท แต่วันนี้ทุกอย่างเพิ่มขึ้นเท่าตัว แต่ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษายังใช้อัตราเดิม และการเพิ่มเงินอุดหนุนดังกล่าวเป็นการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายตามสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่เกี่ยวกับการหาเสียงทางการเมืองแต่อย่างใด ซึ่งได้มีการวิจัย สอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลถึงความน่าจะเป็น เหมาะสมสอดคล้อง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
“เรื่องนี้ ผมต้องขอชื่นชม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ช่วยผลักดันจนได้มีการเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวครั้งนี้ เพราะถ้าเราไม่ปรับเพิ่มเงินอุดหนุนก็จะกระทบถึงคุณภาพการศึกษา เพราะตอนนี้ค่าสาธารณูปโภค เครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอน เพิ่มมากขึ้น และยังเป็นการแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสทางการศึกษา ด้วย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ก็ได้พยายามขอเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนมานานแล้ว ”รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว