เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา(อ.กรอ.อศ.) เพื่อสนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษา และขับเคลื่อนศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (CVM) 39 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยมีผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ, สภาหอการค้าไทย, ผู้บริหารสถานประกอบการ และ ผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน เข้าร่วมประชุม
น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ตนในฐานะประธาน อ.กรอ.อศ. ชื่นชมและขอบคุณผู้ประกอบการ ทั้ง 39 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ร่วมกันนำนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญและกำหนดให้อาชีวศึกษาเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อมุ่งพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะสูง ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และภาคเอกชนถือเป็นพลังหลักสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาตนได้มอบนโยบายให้ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชนทุกแห่ง ขยายความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคีให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจใหม่ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีเป้าหมายที่จะให้นักเรียนเข้าสู่ระบบระบบทวิภาคีไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายใน 3 ปี จากปัจจุบันที่จัดอยู่ประมาณ 15 %
“ การสนับสนุนจากภาคเอกชนที่มีมาต่อเนื่องหลายปี ได้ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยในหลายอุตสาหกรรม จึงอยากขอความร่วมมือจากภาคเอกชนในการสนับสนุนด้านอาชีวศึกษาอย่างเข้มข้นและแข็งแรงมากขึ้น ดิฉันมารับฟังข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนเพื่อนำมาปรับปรุง พัฒนา และต่อยอดความร่วมมือการจัดการอาชีวศึกษาให้ก้าวล้ำทันสมัย ผลิตบุคลากรมืออาชีพที่ตรงกับความต้องการ อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังมีช่องว่าง กฎ ระเบียบต่าง ๆ อยู่ ซึ่งการหารือในวันนี้จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอุปสรรคได้ตรงตามเป้าหมาย และปลดล็อกในประเด็นต่างๆ ต่อไป”รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่าสำหรับข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน ในวันนี้ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ ได้เสนอให้มีการจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคีที่ยืดหยุ่น มีหลักสูตรที่ยืดหยุ่นให้ผู้เรียนอาชีวศึกษาสามารถเรียนจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ภายใน 4 ปี โดยที่วิชาการและกิจกรรมไม่ลดลง ซึ่งเด็กอายุ 18 ปี สามารถทำงานในสถานประกอบการได้ ซึ่งขณะนี้เมื่อเด็กเรียนจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จะมีอายุ 17 ปี ซึ่งไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากอายุไม่ถึงติดกฎหมายแรงงาน เป็นต้น
ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)กล่าวว่า สอศ.ได้นำนโยบายของรัฐบาลที่ได้กำหนดเป้าหมายของประเทศ โดยการสร้างกรอบการพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีความพร้อมตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการอย่างแท้จริง ด้วยการนำนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งน.ส.ตรีนุช ได้มอบนโยบายให้ สอศ.มุ่งผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ ขับเคลื่อนการศึกษาเพื่ออาชีพและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้ผู้จบการศึกษาอาชีวศึกษามีสมรรถนะสูง มีอาชีพ และมีรายได้ที่เหมาะสม โดยส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ซึ่งจำเป็นต้องมีสถานประกอบการที่มีคุณภาพเข้ามามีส่วนร่วมจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี
“สอศ.ได้ดำเนินการขับเคลื่อนตามนโยบาย โดยการแต่งตั้ง อ.กรอ.อศ. จำนวน 39 กลุ่ม ครอบคลุมสาขาอาชีพที่เป็นความต้องการของประเทศ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษาภายใต้ความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีแนวคิด คือ ‘ผู้ใช้ร่วมคิด ผู้ผลิตร่วมกำหนด และผู้สนับสนุนรับผิดชอบร่วมกัน’ โดยการเสนอแนะแนวทางกระบวนการผลิตและพัฒนากำลังคน การวางแผนกำลังคนทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ร่วมแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านการผลิตและพัฒนากำลังคน รวมถึงสนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษาแบบมีส่วนร่วมที่หลากหลายครอบคลุมทุกสาขาอาชีพสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ กลุ่มอาชีพเป็นไปตามความต้องการและทิศทางการพัฒนาของประเทศตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ขณะเดียวกัน สอศ.ยังได้จัดตั้งศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา(CVM) 25 แห่ง เพื่อเป็นต้นแบบในการจัดการอาชีวศึกษาในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ให้สามารถผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะ และมีคุณภาพและ มีจำนวนที่เพียงพอ ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน”เลขาธิการ กอศ.กล่าว