ตามที่สภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ให้อำนาจหน้าที่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ไปเป็นของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ. ) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูฯ ในเขตพื้นที่ฯ ตามมาตรา 53(3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ผู้อํานวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และผู้อํานวยการสถานศึกษา แล้วแต่กรณี โดยความเห็นชอบของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุฯ และให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ โดยมีเวลาในการพิจารณาเป็นเวลา 60 วัน นั้น
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ดร.ตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเสร็จเรียบร้อย ทั้ง 12 มาตราแล้ว และจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ก่อนที่จะครบกำหนด 60 วัน ในวันที่ 25 สิงหาคม 2565 เพื่อนำเข้าที่ประชุมวุฒิสภาชุดใหญ่พิจารณา เพื่อออกเป็นกฎหมายต่อไป
เว็บไซต์ Focusnews.in.th รายงานว่า ในการแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่19/2560 ดังกล่าว ไม่ราบรื่นอย่างที่คิด อาจจะดึงยาวออกไปอีก จนล่วงเลยเวลาที่กำหนดไว้ 60 วัน เนื่องจาก นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน และ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ได้ขอเสนอแก้ไขเพิ่มเติมความในร่างมาตรา 7 (แก้ไขข้อ 13) และมาตรา 9 โดยในมาตรา 7 ให้ยกเลิกความในข้อ 13 แห่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 13 การบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาตามมาตรา 53(3)และ(4)แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา แล้วแต่กรณี โดยความเห็นชอบของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา เป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยยึดถือระบบคุณธรรม ความโปร่งใส และความเสมอภาคระหว่างบุคคล และเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการศึกษาเป็นสำคัญในการดำเนินการบรรจุและแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง หากผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง หรืออนุมัติ อาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยอำนาจและหน้าที่ราชการของตน ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น หรือมีการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง”
“มาตรา 9 ให้มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ประจำเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เรียกโดยย่อว่า “อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา” และคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เรียกโดยย่อว่า “อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา”สำหรับแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา แล้วแต่กรณี ตามพระราชบัญญัตินี้ จำนวนองค์ประกอบ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มา คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการประชุม ของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด ซึ่งองค์ประกอบของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา ต้องกำหนดให้มีผู้แทน กศจ. อย่างน้อยหนึ่งคน และนายอำเภอหรือผู้แทน อย่างน้อย 1คนสําหรับกรุงเทพมหานครให้มีผู้อํานวยการเขต หรือผู้แทนอย่างน้อย 1คน ร่วมเป็นองค์ประกอบด้วย”
บรรดาอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลให้เป็นไปตามที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนดไว้ให้ ก.ค.ศ. ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ตามพระราชบัญญัตินี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ” โดยในวันพรุ่งนี้(2 ส.ค.) จะมีการประชุมพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมความในร่างมาตรา 7 (แก้ไขข้อ 13) และมาตรา 9 ของ นายเฉลิมชัย และพล.อ.วรพงษ์ พร้อมกับโหวตเสียงลงคะแนนเพื่อหาข้อยุติ