- ตามที่สภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ให้อำนาจหน้าที่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ไปเป็นของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ. ) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูฯ ในเขตพื้นที่ฯ ตามมาตรา 53(3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ผู้อํานวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และผู้อํานวยการสถานศึกษา แล้วแต่กรณี โดยความเห็นชอบของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุฯ นั้น ดร.ตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 19/2560 กล่าวว่า หลังจากที่ ร่างพ.ร.บ.ฯ ได้ผ่านวาระ 1 มาแล้วก็ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ โดยมีตนเป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯมีเวลาในการพิจารณาเป็นเวลา 60 วัน โดยขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฯดังกล่าวได้มาถึง กรรมาธิการวิสามัญฯแล้ว และมีการประชุมกันนัดแรกเมื่อวันที่ 8 ก.ค.2565 ซึ่งคิดว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญฯจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่นาน เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีเพียง 12 มาตราเท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเสร็จก็จะนำเข้าที่ประชุมใหญ่วุฒิสภา เมื่อผ่านการพิจารณาในที่ประชุมวุฒิสภาแล้วก็สามารถนำขึ้นกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯประกาศในราชกิจจานุเบกษาออกเป็นกฏหมายได้ หลังจากนั้นกระทรวงศึกษาธิการก็จะต้องประชุมคณะกรรมการการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)เพื่อเตรียมเลือก อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ต่อไป
“จากการประชุมของกรรมาธิการฯนัดแรก และมีการหารือกับสมาชิกผู้แทนราษฏรเจ้าของร่าง และน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่าควรมีกลไกตรวจสอบ กำกับ ระงับยับยั้ง ยกเลิกเพิกถอน คำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้อย่างไร เนื่องจากในร่าง พ.ร.บ.ฯยังไม่มีเรื่องการคานอำนาจ ซึ่งถ้าอำนาจคืนเขตพื้นที่ไปแล้วไม่มีใครตรวจสอบปัญหาเดิมก็จะวนกลับเข้ามา ซึ่งจากการหารือ เห็นว่าจะกำหนดเรื่องการคานอำนาจว่าให้เป็นอำนาจของ กศจ.เพื่อเป็นกลไกระงับยับยั้งกรณีมีการร้องเรียน โดยให้ กศจ.มีอำนาจในการตรวจสอบ แต่ทั้งนี้ผู้ร้องจะต้องเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการโยกย้ายแต่งตั้ง”ดร.ตวง กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ในอดีตไม่เคยมีขั้นตอนการตรวจสอบอย่างนี้ ดังนั้นเมื่อมีการร้องเรียนขึ้นมา ก็จะส่งเรื่องมาที่ส่วนกลางซึ่งใช้เวลาตรวจสอบนานมาก บางกรณีกว่าจะตรวจสอบเสร็จคู่กรณีอาจจะเกษียณอายุราชการแล้ว หรือเสียชีวิตไปแล้ว ดังนั้นการให้อำนาจ กศจ.ตรวจสอบไม่ใช่กศจ.มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นการช่วยกันตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมที่สุด
ดร.ตวงกล่าวด้วยว่า ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ได้พิจารณาถึงมาตราที่ 31 แล้วจากทั้งสิ้น 110 มาตรา ซึ่งมั่นใจว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญฯจะสามารถพิจารณาได้แล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลาแน่นอน ส่วนจะประกาศใช้เป็นกฎหมายทันรัฐาลนี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะยุบสภาเมื่อไหร่