เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่(สพท.) ทั่วประเทศ ผ่านระบบระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า ขอเน้นย้ำให้ ผอ.สพท.เร่งดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน การประเมินผลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยคำนึงถึงนักเรียนเป็นรายบุคคล ชั้น ป.1-3 ให้เน้นอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ป.4-6 เพิ่มเติมในเรื่องทักษะชีวิต ม. 1-3 เน้นสร้างความหลากหลาย เพิ่มทางเลือก และต่อยอดเสริมในส่วนที่ขาด ส่วน ม.4-6 เน้นส่งเสริมอาชีพที่เด็กต้องการ บนพื้นฐานที่จะปลูกฝังทักษะการใช้ชีวิตประจำวันตามทักษะแอคทีฟเลิร์นนิ่ง พร้อมทั้งขอให้เขตพื้นที่ฯสำรวจโรงเรียนในสังกัดว่า มีกี่แห่งที่จัดการเรียนการสอนในรูปแบบแอคทีฟเลิร์นนิ่งได้ดี และมีอีกกี่แห่งต้องเข้าไปช่วยส่งเสริมพัฒนา โดยขอให้เร่งดำเนินการโดยด่วน
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ขอให้ทุกเขตพื้นที่ฯ เร่งออกแบบและดำเนินการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล หรือโรงเรียนคุณภาพของชุมชน โดยขอให้สำรวจว่าโรงเรียนใดมีความเหมาะสมที่จะสร้างหรือพัฒนาเป็นโรงเรียนคุณภาพพิเศษ หรือที่ตนขอเรียกว่าโรงเรียนนานชาติของคนจน ซึ่งหากสามารถทำให้โรงเรียนมีคุณภาพเท่าเทียมกันได้ จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชนได้อย่างแท้จริง ให้ผู้ปกครองวางใจส่งบุตรหลานมาเรียน ขณะเดียวกันขอให้วางแผนการดูแลโรงเรียนขนาดเล็กที่ยังไม่ยอมควบรวม และยังจำเป็นต้องคงอยู่ โดยขอให้สำรวจว่า ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ มีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน กี่แห่ง ที่จะขาดผู้อำนวยการโรงเรียนและครู เนื่องจากเกษียณอายุราชการและไม่ได้รับอัตราเกษียณคืน ขณะที่ในอนาคตโรงเรียนเหล่านี้จะไม่มีครูประจำการ เหลือแต่พนักงานราชการ ซึ่งต้องใช้วิธีเกลี่ยครูอัตราจ้างโรงเรียนใกล้เคียงมาทำการสอน เพื่อแก้ปัญหาการบริหารงานบุคคล แต่สุดท้ายจะกระทบเรื่องการเงิน และพัสดุ ซึ่งทั้งหมดนี้เขตพื้นที่ฯจะต้องไปวางแผนบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ
“ในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ ผมจะดำเนินการย้ายผอ.และรองผอ.สพท. ไว้ล่วงหน้า แต่คำสั่งจะมีผลวันที่ 1 ตุลาคม ส่วน ผอ.สพท. ใหม่ที่กำลังจะสอบในรอบนี้ ก็จะให้ลงตำแหน่งไว้ก่อน เพื่อให้ ผอ. สพท. ใหม่ และ ผอ.และรองผอ.สพท.ย้ายสลับสามารถไปปฏิบัติหน้าที่ได้ทัน วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ขณะเดียวกันได้ขอให้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สพฐ. จัดการเกลี่ยอัตราเกษียณคืนให้เขตพื้นที่ฯ เพื่อให้สามารถบรรจุครูได้ทันวันที่ 1 ตุลาคมนี้เช่นเดียวกัน”ดร.อัมพรกล่าวและว่า ส่วนตำแหน่ง ผอ.โรงเรียน ที่ยังว่าง หรือ รองผอ.โรงเรียน ที่สอบไว้แล้วแต่ยังไม่บรรจุ พบว่าหลายเขตฯปฏิบัติไม่ตรงกัน หลายเขตฯนำอัตราครูเกษียณไปจัดสรรกำหนดตำแหน่ง รองผอ.โรงเรียน เพราะการคืนอัตราเกษียณตำแหน่งครูต้องกำหนดเป็นตำแหน่งครูเหมือนเดิม แต่เนื่องจากกรอบอัตรากำลังกำหนดให้โรงเรียนที่มีนักเรียน 120 คน มีรอง ผอ.โรงเรียนได้ 1 อัตรา หากโรงเรียนใดยังขาดรองผอ.โรงเรียน ให้ดำเนินการดังนี้ 1. เกลี่ยอัตรากำลังในโรงเรียนที่มีครูเกินเกณฑ์ ไปตั้งเป็น รองผอ.ในโรงเรียนที่ต่ำกว่าเกณฑ์ 2.หากครูที่สอบเป็นรอง ผอ.โรงเรียน ได้และถึงลำดับที่บรรจุในโรงเรียนที่เกินกว่าเกณฑ์ ให้ตัดตำแหน่งไปไว้ที่โรงเรียนใหม่ และจัดสรรอัตราครูเกษียณไปไว้ที่โรงเรียนเดิม ทั้งหมดนี้เป็นการบริหารจัดการ ลงรายละเอียดในเรื่องงานบุคคล ซึ่งอยากให้มีตำแหน่งรองผอ.โรงเรียนครบทุกแห่ง เพราะจะมีผลต่อโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ได้รับอัตราเกษียณในตำแหน่ง ผอ.โรงเรียน คืนก็สามารถให้รองผอ.โรงเรียนใกล้เคียงไปรักษาการ ผอ.โรงเรียนนั้นได้ เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารงาน