เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 23 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุมบุณยเกตุ หอประชุมคุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) ได้จัดงานแสดงผลงาน Best Practice ของโรงเรียนนอกระบบ โดย ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า วันนี้สังคมโลกกำลังเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 อันเป็นยุคที่มีความสลับซับซ้อนและ มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ส่งผลให้การศึกษา ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคนและสังคม ต้องปรับเปลี่ยน ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก การจัดการศึกษาของไทยก็เช่นเดียวกัน ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับเปลี่ยน เพื่อให้สามสรถสร้างผลผลิตได้อย่างสอดคล้องกับความต้องการ และบริบทของสังคมในวิถีใหม่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ เปิดโอกำสให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง สร้างแรงบันดาลใจ พัฒนาตนเองให้เกิดจินตนาการ อย่างสร้างสรรค์ในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้ ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในศตวรรษที่ 21 บรรลุถึงเป้าหมายของการจัดการศึกษาเอกชนนอกระบบ ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย และสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ดังนั้น การสร้างเครือข่ายทางการศึกษา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาระบบการเรียนรู้ ส่งเสริมการบูรณาการ การจัดการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาให้ก้าวหน้าและยั่งยืน
การจัดงานแสดงผลงาน Best Practice ของโรงเรียนนอกระบบ จึงมีความสำคัญยิ่งในการพัฒนาระบบการเรียนรู้ของโรงเรียนนอกระบบ ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง สช. และองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน นับเป็นนิมิตหมายอันดีของการศึกษาเอกชนนอกระบบไทย ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือร่วมพลังกันในการบูรณาการ จัดการศึกษาเอกชนนอกระบบสู่วิถีชีวิตใหม่ และร่วมกันขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเอกชนนอกระบบไทย เพื่อการบูรณาการจัดการศึกษาส่งเสริมการเรียนรู้สู่วิถีใหม่ พัฒนาระบบการเรียนรู้ของโรงเรียนนอกระบบ ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ผู้เรียนได้รับการพัฒนาความรู้ ทักษะ ความสามารถของตนเองอย่างเต็มศักยภาพ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อยอดด้านการศึกษา และด้านการประกอบอาชีพได้
“วันนี้ได้เห็นภาพความก้าวหน้าของการศึกษานอกระบบอย่างชัดเจน ในส่วนของการมีส่วนร่วมของกระทรวงศึกษาธิการ สช. สภาการศึกษา สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และภาคีเครือข่ายที่จะร่วมกับขับเคลื่อนให้มาตรฐานวิชาชีพในมิติของการพัฒนาเพื่อประโยชน์ของผู้เรียน อย่างไรก็ตามได้ขอให้มองไปข้างหน้าเพื่อให้โรงเรียนนอกระบบของประเทศไทย ที่นอกจากจะจัดการเรียนการสอนให้แก่คนไทยแล้วให้คิดว่าจะทำอย่างไรให้มีความเป็นสากลที่สามารถสอนให้แก่ชาวต่างชาติที่สนใจได้มากขึ้น รวมถึงให้สามารถไปเรียนต่อยอดในต่างประเทศได้ด้วย”รมช.ศึกษาธิการกล่าวและว่า โรงเรียนนอกระบบเป็นเรื่องของการมีงานทำ และเป็นการเติมเต็มโอกาสให้แก่คนยากจนได้มีความมั่นคงในอาชีพและเศรษฐกิจ การเรียนนอกระบบจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า มีมาตรฐาน มีการรับรองตามกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ และมีงานทำที่มั่นคงได้ โดยความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง