วันนี้ (10 กันยายน 2561) ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา แจ้งวัฒนะ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดมหกรรม “ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปประเทศ” โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดงาน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.)พร้อมคณะผู้บริหาร ครู นักเรียน จากหน่วยงานต่าง ๆ กว่า 2,000 คน
โดยพล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ในสภาวการณ์โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารแบบก้าวกระโดด รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่ใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารที่ผสมผสานกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการผลิตส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการของประชาชนเปลี่ยนไป ผู้ผลิตสินค้าและการบริการจึงจำเป็นต้องปรับตัวสู่การพัฒนาบนฐานความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งประเทศไทยต้องปรับตัวให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ไปสู่ประเทศไทย 4.0 ด้วย
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากร ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะการที่มีอัตราการเกิดน้อยลงและมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนเพิ่มถึง10 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 15.4 ทำให้ก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัย ซึ่งส่งผลให้มีอัตราการพึ่งพิงสูงขึ้น สิ่งท้าทายเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยต้องปรับตัวและปรับทิศทางในการพัฒนาประเทศ โดยจำเป็นต้องเตรียมกำลังคนพร้อมรับการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง
“ รัฐบาลตระหนักและให้ความสำคัญต่อการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะประเทศไทยจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ ซึ่ง กอปศ. จึงได้กำหนดเป็นแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อยกระดับคุณภาพของการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มุ่งความเป็นเลิศและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรเพิ่มความคล่องตัวในการรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษาและสร้างเสริมธรรมาภิบาล โดย กำหนดประเด็นการปฏิรูปไว้ 7 เรื่อง คือ 1.การปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศโดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่และกฎหมายลำดับรอง 2.การปฏิรูปการพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน 3.การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 4.การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนา ผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ 5.การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอน เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 และ 6.การปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน และ 7.การปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล”พล.อ.อ.ประจิน กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา ศธ. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา เร่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์และแผนที่กำหนดทั้งการจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคง การผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันการพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา รวมทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจและเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและนอก ศธ. ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีความรู้และความเข้าใจในทิศทางการพัฒนาที่ถูกต้องและชัดเจน สามารถขับเคลื่อนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
ด้าน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ กล่าวอีกว่า สกศ. ได้จัดมหกรรม “ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปประเทศ” ครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในกลุ่มผู้เกี่ยวข้องทั้งระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติ และผู้รับบริการ เกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในมิติต่าง ๆ กรณีตัวอย่างที่ดี (Best Practice) ในการจัดการศึกษาและสร้างความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาในทุกระดับ/ประเภทการศึกษา ซึ่งจะจัดงาน 2 วัน โดยภายในงานมีกิจกรรมวิชาการที่หลากหลาย ทั้งการเสวนา การอภิปราย การประชุมกลุ่มย่อย และการนำเสนอผลงานวิชาการในรูปแบบนิทรรศการ มีการจัดการเสวนา Ted Talk สร้างแรงบันดาลใจ หัวข้อ “ปลดแอกการเรียนเรียนรู้ สู่การพัฒนาประเทศ 4.0” นอกจากนี้ ยังมีการจัดเสวนาในห้องต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาและแนวทางตามยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี อาทิเช่น การปฏิรูปห้องเรียนไทย สู่ห้องเรียนแสนสุข สนุกคิด วิเคราะห์ยุค 4.0 การจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ สร้างคนสร้างงาน Mind the Digital Gap การศึกษายุคดิจิทัล พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ปฏิรูปการประเมินการเรียนรู้เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้เรียน โรงเรียนห่างไกล สอนอย่างไร ให้เด็กดี มีทักษะชีวิต การพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ SDG ระดับนานาชาติ การวิจัยและนวัตกรรมทางการศึกษา ที่ตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศ