เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมทางวิชาการสภาการศึกษาเสวนา (OEC Forum) ครั้งที่๑/๒๕๖๕ เรื่อง จิตวิทยาโรงเรียนกับการฟื้นฟูการเรียนรู้ โดยมี ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประเทศไทย (นางคยองซัน คิม) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่) ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา (นางอำภา พรหมวาทย์) พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานอื่น ๆ และบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมใบหยกสกาย ห้องเรนโบ 1 ชั้น 17 ควบคู่กับการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook และ Youtube ภายใต้ชื่อ “สภาวะการศึกษาไทย สกศ.” และช่องทาง “OEC News สภาการศึกษา”
ดร.อรรถพล กล่าวว่า จากสถานการณ์โลกแห่งความผันผวน (VUCA World) เป็นยุคที่โลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ทั้งการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด อีกทั้งผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 สร้างวิถีความปกติใหม่ (New Normal) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติ อาทิ รูปแบบการทำงาน ระบบการศึกษา ส่งผลต่อรูปแบบการเรียนรู้แตกต่างไปจากเดิม เน้นการเรียนการสอนออนไลน์ ครอบครัวมีช่วงเวลาในการดูแลบุตรหลานลดลง ดังนั้น จะมีวิธีการอย่างไรในการปรับแก้ปัญหาดังกล่าว ดูแลนักเรียนให้มีความเข้มแข็ง เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพทั้งด้านความรู้ ด้านจิตใจ เป็นดีของสังคมตามความคาดหวังของประเทศได้ ด้วยเหตุนี้ จิตวิทยาการศึกษา จึงมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษา สถานศึกษาจำเป็นต้องมีบุคลาการ ไม่ว่าจะเป็นนักการศึกษาหรือครูที่มีความรู้พื้นฐานทางด้านจิตวิทยาการศึกษาเพื่อช่วยเหลือนักเรียนให้มีความเข้มแข็งด้านจิตใจสามารถยืนอยู่ในสังคมได้
“สกศ. จัดสภาการศึกษาเสวนา (OEC Forum) เพื่อเป็นเวทีในการระดมความคิดเห็นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดย สกศ. จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมดที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ ไปจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนานโยบาย หรือกำหนดนโยบายต่างๆ ด้านการศึกษาของประเทศต่อไป” เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าว
นางคยองซัน คิม ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประเทศไทย กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมและเปิดเผยว่า องค์การยูนิเซฟตระหนักในประเด็นสุขภาพจิตซึ่งควรเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักการศึกษาและสถาบันการศึกษา เนื่องจากสามารถส่งเสริมความเข้มแข็งในเด็ก มีหลักฐานแสดงให้เห็นผลกระทบว่าสุขภาพจิตของเด็กส่งผลต่อการเรียนรู้และผลสัมฤทธ์ทางการเรียน ความตระหนักเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งโรงเรียนต้องช่วยเด็กในการดูแลสุขภาพจิต องค์การยูนิเซฟตั้งใจอย่างยิ่งที่จะทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการส่งเสริมความเข้าใจประเด็นจิตวิทยาและการฟื้นฟูการเรียนรู้ โดยสนับสนุนการวิจัย และข้อมูล เพื่อการจัดทำนโยบายสำหรับเด็กทุกคนในประเทศไทยต่อไป
แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์บรรยายเรื่อง “จิตวิทยาโรงเรียนกับการฟื้นฟูการเรียนรู้” ความสำคัญตอนหนึ่งว่าแนวทางปฏิบัติการดูแลสุขภาพจิตเด็กวัยเรียนวัยรุ่นในโรงเรียน มีดังนี้ 1) “เฝ้าระวัง” ปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ สังคม 2) “เรียนรู้” เทคนิคการส่งเสริมพัฒนา ป้องกันแก้ไขด้วยการปรับพฤติกรรม และการให้ปรึกษาออนไลน์ 3) “ดูแล” และประเมินผลการดูแลด้วยการปรับพฤติกรรมและให้การปรึกษา และ “ปรึกษาส่งต่อ” ทีมสาธารณสุขผ่านแอปพลิเคชั่น School health Hero เมื่ออาการไม่ดีขึ้น
ทั้งนี้ ข้อดีของแอปพลิเคชั่น ทำให้ครูค้นหานักเรียนกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วโดยไม่เพิ่มภาระ สามารถเข้าใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา ผู้บริหารสามารถใช้ข้อมูลทางสถิติทันเวลาและเป็นปัจจุบัน ซึ่งครูสามารถขอคำปรึกษาจาก Hero Consultant ผ่านแอปพลิเคชั่นโดยยังไม่จำเป็นต้องส่งนักเรียนไปพบผู้เชี่ยวชาญที่โรงเรียน