จากกรณีโลกโซเชียลได้ วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นเรื่องเครื่องแต่งกายของ ลูกเสือ-เนตรนารี ว่า มีราคาสูง สร้างภาระให้ผู้ปกครอง รวมถึงการตั้งคำถาม ถึงประโยชน์ในการเรียนลูกเสือ-เนตรนารี ว่า ควรจะยังมีต่อหรือไม่ นั้น

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน น.ส.ตรีนุช  เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศึกษาธิการ)  กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ปกครองส่วนใหญ่ ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ขาดสภาพคล่อง ศธ.จึงได้มีมาตรการช่วยเหลือลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะเรื่องเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีหนังสือ กำชับไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ให้สื่อสารไปยังโรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศ ขอให้โรงเรียนอนุโลม กรณีนักเรียนรายใดไม่มีความพร้อม ขอให้ยืดหยุ่นไม่ต้องแต่งกายเต็มรูปแบบ เพียงแค่มีสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นลูกเสือ เนตรนารี อาทิ ผูกผ้าพันคอแสดงสัญลักษณ์ เป็นต้น เพราะเป้าหมายการจัดการเรียนการสอน อยู่ที่กิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยฝึกให้เด็กได้เรียนรู้

“เรื่องนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกระเบียบเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครองตั้งแต่ ปี 2564 โดยไม่ได้บังคับให้นักเรียนต้องสวมใส่ชุดลูกเสือเต็มรูปแบบ เพียงแต่อาจจะมีการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน ขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการก็ได้เตรียมของบเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน และพยายามที่จะหามาตรการดูแลครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งนี้สำหรับชุดลูกเสือ อยู่ใน 5 รายการเรียนฟรีอยู่แล้ว หากได้รับเงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มเติมเข้ามาเชื่อว่าจะช่วยลดภาระผู้ปกครองได้มากขึ้น ”น.ส.ตรีนุช กล่าวและว่า ส่วนที่เสนอให้ยกเลิกกิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี นั้น ส่วนตัวมองว่า กิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี ยังจำเป็นมีอยู่  เพราะเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ ปลูกฝังให้นักเรียนมีจิตอาสา รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น รวมถึง มีวินัย ซื่อสัตว์  แต่อาจจะต้องมีการปรับรูปแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับการเรียน การสอนในปัจจุบันซึ่งมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป แต่เป้าหมายยังคงเดิม คือให้เด็กมีวินัย จิตอาสา และมีความซื่อสัตย์

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments