เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายศรัณย์ ชินประหัษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกโคมัตสุเซลส์ จำกัด ร่วมลงนามความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กับ บริษัท บางกอกโคมัตสุเซลส์ จำกัด เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและจัดการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) พ.ศ.2563 ในสาขาวิชาเทคนิคเครื่องกล สาขางานเทคนิค เครื่องจักรกลหนัก โดยจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี นำร่องในวิทยาลัยการอาชีพนครศรีธรรมราช โดยมี นายราตรีสวัสดิ์ ธนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้แทนสถานศึกษา และนายณัฐกิตติ์ ศิริรัตนธัญญะกุล รองกรรมการผู้จัดการบริษัทบางกอกโคมัตสุเซลส์ จำกัด พร้อมด้วยผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผู้จัดการส่วนอาวุโสฝ่ายกิจการทั่วไป และหัวหน้าแผนกกิจการทั่วไปและจัดซื้อ บริษัท บางกอกโคมัตสุเซลส์ จำกัด ร่วมเป็นพยาน ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
เรืออากาศโท สมพร กล่าวว่า สอศ. เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของภาครัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งความร่วมกับภาคเอกชนอย่าง บริษัท บางกอกโคมัตสุเซลส์ จำกัด ในครั้งนี้ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียน นักศึกษา ในสาขาวิชาเทคนิคเครื่องกล สาขางานเทคนิค เครื่องจักรกลหนัก ทั้งรูปแบบการเรียนการสอนปกติ และระบบทวิภาคี โดยนำร่องจัดการเรียนการสอนในระบบทวิภาคีรุ่นแรก จำนวน 11 คน ในวิทยาลัยการอาชีพนครศรีธรรมราช ซึ่งสาขางานดังกล่าวนับเป็นสาขางานใหม่ของหลักสูตร และเป็นความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นอนาคตในการประกอบอาชีพ สำหรับผู้เรียน และสอดรับกับนโยบายจุดเน้นและทิศทางการขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาสู่ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) โดยนักเรียน นักศึกษา จะได้เรียนรู้การทำงานจากประสบการณ์จริงเพื่อเพิ่มทักษะและพัฒนาความรู้ความสามารถ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในยุคปัจจุบัน
ด้านนายศรัณย์ กล่าวว่า บริษัท บางกอกโคมัตสุเซลส์ จำกัด มีศูนย์บริการ 23 ศูนย์ทั่วประเทศ ทางบริษัทมีเชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องจักรกลหนัก ไม่ว่าจะเป็นรถขุดไฮดรอลิค รถตักล้อยาง รถดันดิน รถเกลี่ยดิน ซึ่งในการร่วมมือครั้งนี้ทางบริษัทมุ่งเน้นให้ นักเรียน นักศึกษา ได้ศึกษาเรียนรู้จากเครื่องจักรจริง เทคโนโลยีเกี่ยวกับเครื่องจักรกล และการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับบริษัท เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาสามารถนำมาใช้ปฏิบัติงานหรือสามารถผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการได้ ทั้งนี้ในด้านความร่วมมือในการจัดการศึกษา บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอนที่เป็นมาตรฐาน เพื่อการนำไปประกอบอาชีพในอนาคต และต้องการที่จะยกระดับในมิติของเทคโนโลยีในเครื่องจักรหนัก ใน 3 ด้าน คือความปลอดภัยของผู้เรียน การสื่อสารทักษะด้านภาษา ซึ่งมีความจำเป็นต่อการเรียนรู้ และด้านวัฒนะธรรม จริยธรรม และวินัยการทำงานร่วมกันกับสถานประกอบการที่มีเป็นมีการร่วมทุนระหว่างประเทศ ซึ่งจะมาร่วมเติมเต็มให้กับผู้เรียน ซึ่งโครงการความร่วมมือนี้ถือเป็นการนำร่องกับกับบริษัทด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้เรียนจะได้สิทธิ์เป็นลำดับแรกในการคัดเลือกเพื่อร่วมงานกับบริษัทฯ โดยหวังว่าในอนาคต จะสามารถขยายความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ต่อไป