เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 5/2565 โดย น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบหลักการการกำหนดสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ เพื่อนำมาใช้ในการลดระยะเวลาตามเงื่อนไขคุณสมบัติเฉพาะสำหรับวิทยฐานะของผู้ขอมีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะ (ว 4/2564) โดยกำหนดให้สถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ ควรจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษเพื่อให้ครอบคลุมกับบริบทของสถานศึกษา สังกัด ศธ. จึงมอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ.จัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการ โดยให้นำประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดสำนักงานในพื้นที่พิเศษ มาประกอบการพิจารณาด้วย เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด ศธ.ที่อยู่ในพื้นที่พิเศษ ซึ่งจะประกาศใช้หลักเกณฑ์ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นไป
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ตามที่ ก.ค.ศ. ได้กำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ทุกสายงาน (ว 3/2564) โดยในคุณสมบัติเฉพาะสำหรับวิทยฐานะ ได้กำหนดการลดระยะเวลาดำรงตำแหน่ง จาก 4 ปี เหลือ 3 ปี ตามเงื่อนไขที่ ก.ค.ศ. กำหนด พร้อมทั้ง ได้กำหนดการลดระยะเวลาตามเงื่อนไขคุณสมบัติเฉพาะสำหรับวิทยฐานะของผู้ขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ สายงานการสอน สายงานบริหารสถานศึกษา และสายงานนิเทศการศึกษา (ว 4/2564) โดยในสายงานการสอน และสายงานบริหาสถานศึกษา กำหนดผู้มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขข้อ 1.2 ว่า “เป็นผู้ปฏิบัติงานในสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ที่มีความยากลำบาก โดยเป็นพื้นที่ที่เป็นเกาะ หรือบนภูเขาสูง หรือหุบเขา หรือเชิงเขา ที่ไม่สามารถเดินทางด้วยพาหนะใดๆ ได้สะดวกตลอดปี หรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ หรือเหตุอื่น ตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด โดยต้องปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่พิเศษ ไม่น้อยกว่า 3 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ ทั้งนี้ หากได้รับการแต่งตั้งให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะตามเงื่อนไขข้อนี้ไปแล้ว และได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่พิเศษต่อเนื่องไปอีก ไม่น้อยกว่า 3 ปี ก็สามารถใช้เงื่อนไขข้อนี้ขอลดระยะเวลาในการขอเลื่อน ในวิทยฐานะถัดไปได้”
น.ส.ตรีนุช กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบ แนวทางการบังคับใช้ประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ครอบคลุมถึงคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนคณะกรรมการที่กฎหมายกำหนด โดยสรุปสาระสำคัญของแนวปฏิบัติดังกล่าว ดังนี้ 1. ให้ใช้บังคับครอบคลุมถึงคณะกรรมการ ซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐ ในการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมาย 2. กรรมการต้องยึดถือปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐของหน่วยงานที่ตนเองสังกัดด้วย ในกรณีกรรมการที่กำหนดในลักษณะที่เป็นชื่อตำแหน่งผู้แทนของตำแหน่ง ผู้แทนของหน่วยงานของรัฐ และผู้แทน ของคณะกรรมการ ให้ยึดถือและปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมสาหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐของหน่วยงานที่ตนเองสังกัดเป็นพื้นฐาน รวมทั้งต้องปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทนั้น ๆ ที่คณะกรรมการต้องถือปฏิบัติเพิ่มเติมด้วย 3. มาตรการในกรณีที่กรรมการมีพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม หรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม กรณีที่มีบทลงโทษ (Sanction) ผู้พิจารณาดำเนินการตามกระบวนการรักษาจริยธรรมให้คณะกรรมการ ที่มอบหมายผู้แทนเป็นผู้พิจารณาตามกระบวนการรักษาจริยธรรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
4.ให้นำประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐไปใช้บังคับกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่หน่วยงานของรัฐว่าจ้างมาเพื่อปฏิบัติงาน ทั้งในกรณีของการจ้างบุคคลเพื่อเป็นที่ปรึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ปฏิบัติงานในสาขาวิชาที่มีลักษณะเฉพาะ รวมถึงการจ้างบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจของหน่วยงาน หรือเป็นการจ้างเพื่อปฏิบัติงานสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน หรือการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐบาล หรือการบริหารงานขององค์กร รวมถึงมีผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ การเชิญบุคคลหรือคณะบุคคลเพื่อเป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานในภารกิจสำคัญดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ โดยให้นำการประพฤติปฏิบัติตนตามประมวลจริยธรรมหรือข้อกำหนดจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐ ไปกำหนดไว้ในข้อตกลงการจ้างหรือสัญญาจ้างด้วย และ5. ให้มีการปฐมนิเทศ หรือจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมเกี่ยวกับประมวลจริยธรรม เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนสร้างการตระหนักรู้ให้แก่คณะกรรมการ เพื่อเป็นการส่งเสริมและป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม หรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม