เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบปรับปรุงแก้ไขประกาศเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ จำนวน 4 ฉบับ เพื่อให้ความช่วยเหลือ บรรเทาภาระหนี้สินและเสริมสภาพคล่องด้านการบริหารจัดการโรงเรียนเอกชน สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไข ดังนี้ 1.ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกู้ยืมเงินเพื่อขยายโอกาสให้โรงเรียนขนาดเล็ก สามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนได้มากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้โรงเรียนที่เปิดสอน 1 ระดับ ที่มีนักเรียนไม่ต่ำกว่า 60 คนสามารถขอกู้ได้ จากเดิมที่ต้องมีนักเรียนไม่ต่ำกว่า 120 คน โรงเรียนที่เปิดสอน 2 ระดับ เปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีนักเรียนไม่ต่ำกว่า 120 คนสามารถขอกู้ได้ จากเดิมที่ต้องมีนักเรียนไม่ต่ำกว่า 180 คน ส่วนกรณีที่มีนักเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด แต่มีเหตุผลจำเป็นให้อยู่ในอำนาจของคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป นอกจากนี้ยังแก้ไขการกำหนดเบี้ยปรับ กรณีผิดนัดไม่ชำระหนี้ จากเดิมต้องชำระเบี้ยปรับร้อยละ10 ของยอดค้างชำระทั้งหมด เป็น ชำระเบี้ยปรับร้อยละ 12 ของเงินต้นในงวดที่ผิดนัด สำหรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามภาคใต้ เพื่อให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“การปรับประกาศครั้งนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับโรงเรียนเอกชน ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19โรงเรียนเอกชนจะกู้เพื่อซ่อมแซมและก่อสร้างอาคาร โดยไม่จำกัดวงเงิน แต่พอมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะเปิดให้โรงเรียนได้กู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง วงเงินไม่เกินโรงเรียนละ 3 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้น โดยขณะนี้กองทุนฯ มีเงินหมุนเวียนอยู่กว่า 200 ล้าน ที่จะสามารถปล่อยกู้ได้ และหากวงเงินลดต่ำน้อยกว่านี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ก็สามารถเสนอขอเพิ่มวงเงินได้ โดยจากข้อมูลก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มีโรงเรียนกู้เงินกองทุนฯทั้งหมด 64 แห่ง แต่หลังจากมีสถานการณ์โควิด-19 พบว่ามีโรงเรียนกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องเพิ่มขึ้นเป็น 407 แห่ง ในส่วนนี้หากโรงเรียนใดมีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ สช.จะผ่อนผันการชำระหนี้ให้โรงเรียน โดยมีโรงเรียนขอผ่อนผันการชำระหนี้มาทั้งหมด 21 แห่ง” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว