เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้คัดเลือกนักเรียนตัวแทนประเทศไทย จำนวน 16 ทีม ไปประกวดแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมสำหรับเยาวชน ในงาน ”Regeneron International Science and Engineering Fair (ISEF) 2022“ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-13 พฤษภาคม 2565 ณ เมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการประกวดโครงงานของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีนักเรียนเข้าร่วมกว่า 1,800 คนจาก 130 ประเทศทั่วโลก นั้น ตนขอชื่นชมนักเรียนไทยได้แสดงความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำเสนอโครงงานและคว้ามาครองได้สำเร็จถึง 10 รางวัล โดยนักเรียนไทยสามารถคว้าอันดับ 1 ในรางวัลใหญ่ (Grand Award) ได้ถึง 2 สาขาจากทั้งหมด 21 สาขา และยังได้รับ 1 ใน 6 รางวัลสูงสุดในงาน (Winner of the Top Award) อีกด้วย
สำหรับ 10 รางวัลที่นักเรียนไทยได้รับ แบ่งประเภทเป็นรางวัล Grand Award จำนวน 8 รางวัล และรางวัล Special Award จำนวน 2 รางวัล โดยรางวัล Grand Award เด็กไทยได้รางวัลสูงสุด 1 รางวัล อันดับ 1 จำนวน 2 รางวัล อันดับ 2 จำนวน 1 รางวัล อันดับ 3 จำนวน 1 รางวัล และอันดับ 4 จำนวน 3 รางวัล ดังนี้
1. โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ได้อันดับ 1 ในสาขา Translational medical science จากโครงงานเรื่อง “เครื่องมือช่วยวินิจฉัยความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งท่อน้ำดีจากการตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ตับจากภาพถ่ายอุจาระและการวิเคราะห์ข้อมูลแบบประเมินความเสี่ยงด้วยเทคโนโลยี AI” และได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 6 โครงงานที่ได้รับรางวัลสูงสุดในงาน Winner of the Top Award จาก The Gordon E. Moore Award for Positive Outcomes for Future Generations of $50,000 ซึ่งเป็นรางวัลที่ยกย่องให้กับโครงงานสร้างสรรค์ที่มีผลกระทบสูงในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อไป รับเงินรางวัลมูลค่ากว่า 1.7 ล้านบาท
2. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้อันดับ 1 ในสาขา Computational Biology and Bioinformatics
จากโครงงานเรื่อง “การทำนายความไวต่อยาด้วยเทคนิคผสมผสาน Graph Attention Networks เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการรักษาโรคมะเร็งด้วยการแพทย์แบบแม่นยำ โดยใช้โครงสร้างโมเลกุลยาร่วมกับข้อมูลทางเภสัชพันธุศาสตร์”
3. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ได้อันดับ 2 ในสาขา Earth and Environmental Sciences จากโครงงานเรื่อง “การพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมแนวป่าชายเลนด้านในด้วยวัสดุปลูกลอยน้ำเลียนแบบลักษณะโครงสร้างของผลจิกทะเล”
4. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ได้อันดับ 3 ในสาขา Animal Science จากโครงงานเรื่อง “การเพิ่มศักยภาพในการเลี้ยงจิ้งหรีดด้วยแสงสีเพื่อลดอัตราการตายจากพฤติกรรมการสลัดขาทิ้ง”
5. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้อันดับ 4 ในสาขา Biomedical and Health Sciences จากโครงงานเรื่อง “การพัฒนาต้นแบบชุดทดสอบเชิงสีชนิดใหม่สำหรับไวรัสทั้งชนิด DNA และ RNA เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอย่างครอบคลุม ”
6. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้อันดับ 4 ในสาขา Biomedical Engineering จากโครงงานเรื่อง “การพัฒนาเข็มระดับไมโครเพื่อการตรวจวัดแบบ non-invasive ของสารครีเอตินินในของเหลวระหว่างเซลล์สู่นวัตกรรมการประเมินโรคไตแบบพกพา”
7. โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช ได้อันดับ 4 ในสาขา Physics and Astronomy จากโครงงานเรื่อง “การแกว่งของลูกตุ้มที่มีกระแสลมรบกวน”
และ Special Award ซึ่งเป็นรางวัลที่ให้จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานวิจัย บริษัทอุตสาหกรรม จำนวน 2 รางวัล ได้แก่
1. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ได้รับ Special Award First Life Science Award of $1500 จาก Sigma Xi, The Scientific จากโครงงานเรื่อง “การพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมแนวป่าชายเลนด้านในด้วยวัสดุปลูกลอยน้ำเลียนแบบลักษณะโครงสร้างของผลจิกทะเล ”
2. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้รับ Special Award จาก USAID Science for Development First Award – Global Health จากโครงงานเรื่อง “การพัฒนาต้นแบบชุดทดสอบเชิงสีชนิดใหม่สำหรับไวรัสทั้งชนิด DNA และ RNA เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอย่างครอบคลุม”
“นับเป็นอีกเวทีที่นักเรียนไทยสามารถแสดงศักยภาพในเวทีระดับโลก ซึ่งจะถอดแนวทางการเรียนการสอนไปต่อยอดและขยายผล เพื่อสร้างนักเรียนเก่งในทุกสาขาวิชา ทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ให้กระจายทั่วถึงกันในทุกโรงเรียนทั่วประเทศต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว